กสทช. พร้อมจัดประมูลเลขสวย นำเงินเข้ารัฐมหาศาล

วันนี้ (18 พฤษภาคม 2558) พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. เปิดเผยภายหลังการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ ร่างประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรแลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่เป็นเลขหมายสวยว่า จากการที่อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยเติบโตขึ้นอยางรวดเร็ว ส่งผลให้ประชาชนมีความต้องการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น โดยในปัจจุบันพบว่ามีปริมาณเลขหมาย 148 เลขหมายต่อประชากร 100 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ถือเป็นหนึ่งในทรัพยากรโทรคมนาคมที่มีปริมาณจำกัด เมื่อมีความต้องการใช้งานสูงขึ้นก็มีแนวโน้มจะขาดแคลนได้

     ภายหลังจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ที่ประจักษ์ให้เห็นว่าความต้องการใช้งานเครือข่ายเคลื่อนที่มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการวางแผนประมูลคลื่นความถี่เพิ่มเติมในอนาคต ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เกิดการใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น ดังนั้น การบริหารจัดการเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่จะต้องสอดคล้องกับความต้องการใช้งานและการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย

     ในปัจจุบันมีเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ได้สงวนไว้เพื่อเตรียมรองรับการนำไปจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นเลขหมายสวย ตั้งแต่มติ กทช. ในการประชุมครั้งที่ 39/2553 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2553 รวมทั้งสิ้น 16,320,000 เลขหมาย (ข้อมูล ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558) ซึ่งในจำนวนนี้จะมีเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนหนึ่งเท่านั้นที่เป็นเลขหมายสวย ซึ่งจะพิจารณาเฉพาะรูปแบบเลขหมายที่โดดเด่น มีลักษณะเฉพาะพิเศษที่หายาก และได้รับความนิยมในตลาด มีประมาณ 500,000 เลขหมาย เช่น เลขซ้ำแปดตัวท้าย เลขซ้ำเก้าตัวท้าย เบอร์ตอง เป็นต้น

     คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้เล็งเห็นความสำคัญในการนำเลขหมายที่ได้มีการสงวนไว้ตามมติ กทช. ดังกล่าว มาจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสะท้อนมูลค่าของทรัพยากรเลขหมายโทรคมนาคมที่ขาดแคลน ซึ่งในการจัสรรเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นเลขสวยนี้ จะต้องเป็นไปตามประกาศกฎเกณฑ์เฉพาะเรื่อง สอดคล้องตามหลักกฎหมาย เปิดโอกาสให้ผู้สนใจทุกภาคส่วนสามารถเข้าร่วมประมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม โปร่งใส และทั่วถึง ไม่ก่อให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด การดำเนินการของ กสทช. เป็นการบริหารจัดการการประมูลเลขหมายสวยในตลาดแรก ระหว่างสำนักงาน กสทช. และผู้เข้าร่วมการประมูลเท่านั้น โดยจะไม่เข้าไปแทรกแซงการดำเนินการซื้อขายเลขหมายภายหลังจากการประมูลแล้ว โดยรายได้จากการประมูลหมายเลขสวยดังกล่าว เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว ทางสำนักงาน กสทช. จะนำส่งรัฐทั้งหมดเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดิน

     พันเอก เศรษฐพงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในสิ้นปีนี้ (ธันวาคม 2558) ทาง กสทช. จะได้รับเงินจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz จากผู้ประกอบการทั้งสามรายที่ได้รับใบอนุญาตฯ เป็นงวดสุดท้ายอีกจำนวน 10,406.25 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 41,625 ล้านบาท ซึ่งเงินทั้งหมดจะถูกนำส่งเป็นค่าทรัพยากรสาธารณะให้แก่กระทรวงการคลัง และถือเป็นรายได้เข้าประเทศต่อไป ทั้งนี้ในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ดังกล่าวได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และที่เห็นได้ชัดเจนคือตัวเลขจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G และ 4G บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก ทั้งที่เป็นผู้ใช้บริการรายใหม่ และผู้ใช้บริการที่โอนย้ายมาจากระบบ 2G ทำให้สถิติการใช้งานเครือข่ายใหม่บนความถี่ย่าน 2.1 GHz มีจำนวนสูงขึ้น จนประเทศไทยครองตำแหน่งแชมป์ในการเปลี่ยนผ่านจากเครือข่าย 2G ไป 3G ที่รวดเร็วที่สุดในโลก

Download

สร้างโดย  -   (9/3/2559 11:11:23)

Download

Page views: 177