กสทช. ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดพร้อมขอให้ศาลยกฟ้อง กรณีอาร์เอส ยื่นฟ้องเพิกถอนประกาศ MUST HAVE ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014
กสทช. ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด พร้อมขอให้ศาลยกฟ้อง กรณีอาร์เอส ยื่นฟ้องเพิกถอนประกาศ MUST HAVE ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ย้ำ บ. อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นต์ จำกัด เป็นเพียงผู้ได้รับลิขสิทธิ์ ไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการบังคับใช้ประกาศ MUST HAVE
พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประธาน กสท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (29 เมษายน 2557) ตนพร้อมด้วย กสทช. พ.ต.อ. ทวีศักดิ์ งามสง่า ผู้รับมอบอำนาจจาก กสทช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ลงวันที่ 31 มีนาคม 2557 ที่ได้อ่านเมื่อวันที่ 31 เดือน มีนาคม 2557 ในคดีหมายเลขดำที่ 726/2556 หมายเลขแดงที่ 530/2557 ระหว่างบริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเมนท์ จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2) ในกรณีเกี่ยวกับประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (ประกาศ MUST HAVE) ต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอให้กลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางและยกฟ้องคดีนี้ โดยมีประเด็นหลักในการอุทธรณ์คือ ประเด็นที่ 1 การฟ้องร้องคดีของผู้ฟ้องคดีไม่ชอบด้วยพ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 โดยผู้อุทธรณ์เห็นว่า บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเมนท์ จำกัด ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเพียงผู้ได้รับลิขสิทธิ์ให้ทำการแพร่ภาพแพร่เสียงรายการการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย เป็นเพียงผู้ที่มีเนื้อหารายการเท่านั้น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้ที่มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 โดยตรง ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายจากการบังคับใช้ประกาศฯ
นอกจากนี้ ตามที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ได้ยื่นคําร้องขออนุญาตที่จะยกเว้น การปฏิบัติตามประกาศพิพาทในกรณีของการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย โดยต่อมาผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือขอถอนคําร้องขออนุญาตตามข้อ 4 ของประกาศพิพาทโดยอ้างเหตุว่าได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนประกาศพิพาทแล้ว ดังนั้น หากศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายจากการปฏิบัติตามประกาศพิพาทจึงมีสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาล กรณีดังกล่าวผู้ฟ้องคดีจะต้องปฏิบัติตามประกาศพิพาท ข้อ 4 ในการยื่นคําร้องขออนุญาตที่จะปฏิบัติเป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากที่ประกาศพิพาทกําหนด ศาลปกครองกลางจะต้องมีคําวินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับการที่ผู้ฟ้องคดียื่นคําร้องขอตามข้อ 4 ของประกาศพิพาทและขอถอนคําร้องก่อนที่ กสท. จะมีคําสั่งในคําร้องดังกล่าว เนื่องจากได้นําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองนั้น เป็นการดําเนินการที่ทําให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิฟ้องคดีโดยชอบด้วยมาตรา 42 แห่งพ.ร.บ. ตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 หรือไม่ ประกอบกับผู้ฟ้องคดีเองได้อ้างเหตุแห่งการที่ กสท. ไม่มีคําสั่งในคําร้องขอของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวจนล่วงพ้นระยะเวลาอันสมควร ผู้ฟ้องคดีจึงต้องนําคดีมาฟ้องต่อศาล หากแต่ศาลปกครองกลางยังไม่ได้มีคําวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว แต่อย่างใด กระบวนการพิจารณาในส่วนนี้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นที่ 2 ประกาศพิพาทออกโดยชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 2 เห็นว่า การใช้อำนาจในการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ... ตามความในมาตรา 27 (6) แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 นั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานคลื่นความถี่ และการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการอนุญาตประกอบกิจการตามความในหมวดที่ 2 ส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 แห่งพ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวเท่านั้น หากแต่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่ให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม การกํากับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์จึงต้องมีการกํากับดูแลในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
กรณีการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย แม้ทีมชาติไทยจะยังไม่สามารถเข้าสู่รอบการแข่งขันดังกล่าวได้ แต่ก็ได้มีการส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันในรอบคัดเลือกมาโดยตลอด ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวกันของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ หรือของผู้ประกอบการเอกชนจะเป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดรายการดังกล่าวก็ตาม ก็จะเป็นการถ่ายทอดสดผ่านบริการโทรทัศน์ที่เป็น การทั่วไป หรือฟรีทีวี ทำให้ประชาชนคนไทยไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างไรก็สามารถรับชม การถ่ายทอดสดรายการดังกล่าวได้ การออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 นอกจากจะทำให้ประชาชนโดยทั่วไปไม่จำกัดเฉพาะผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงรายการตามภาคผนวกแนบท้ายประกาศได้ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิที่มีมาแต่เดิมของประชาชนชาวไทยรวมถึงผู้ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงรายการที่เป็นประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกับประชาชนอื่นๆ
ประเด็นที่ 3 ประกาศพิพาทไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เห็นว่า สิทธิในการเผยแพร่งานต่อสาธารณะตามมาตรา 15 (2) แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ไม่ใช่สิทธิและเสรีภาพตามที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 รวมถึงเห็นว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 ไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรา 15 แห่งพ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2551 และการปฏิบัติตามประกาศ MUST HAVE ไม่เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับผลกระทบเนื่องจากจะต้องปฏิบัติผิดข้อสัญญาในการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์จาก FIFA และเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์เพียงเพื่อประโยชน์ของประชาชน แม้ประกาศพิพาทจะมีผลให้ผู้ฟ้องคดีจะต้องถูกจำกัดสิทธิในการจำหน่ายกล่องรับสัญญาดาวเทียมเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการรับชมรายการดังกล่าวครบทั้ง 64 นัดแต่ก็ไม่ได้จำกัดหรือห้ามไม่ให้ ผู้ฟ้องคดีแสวงหาผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จากการเผยแพร่รายการฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายดังกล่าวในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปแต่อย่างใด ด้วยเหตุที่ว่านี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงเห็นว่า ประกาศ MUST HAVE ไม่ได้มีผลเป็นการจำกัดซึ่งสิทธิของผู้ฟ้องคดีในการแสวงหาประโยชน์รวมตลอดถึงการเผยแพร่รายการการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จนเกินสมควร ประกาศ MUST HAVE จึงไม่ขัด หรือแย้งกับมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
และประเด็นสุดท้าย กระบวนการในการพิจารณาคดีของศาลปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากสัญญาการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับ FIFA เป็นสาระสำคัญของการพิจาณาคดีพิพาทคดีนี้ ในตอนแรกผู้ฟ้องคดีไม่ได้แนบสัญญาดังกล่าวต่อศาลและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดียื่นสัญญาฉบับดังกล่าว และมีคำสั่งให้ยื่นคำแปลสัญญาฉบับภาษาไทยต่อศาล ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ยื่นเอกสารดังกล่าวต่อศาลแล้ว แต่ไม่ได้ส่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทราบ เนื่องจากสัญญาฉบับดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของคดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงได้ยื่นคำร้องขอตรวจสำนวนและคัดสำเนาสัญญาฉบับดังกล่าวทั้งฉบับภาษาอังกฤษและฉบับคำแปลเป็นภาษาไทยต่อศาล เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2556 แต่ศาลไม่อนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตรวจสำนวนแต่อนุญาตให้คัดสำนวนได้เฉพาะฉบับภาษาอังกฤษ จำนวน 10 แผ่น โดยไม่อนุญาตให้คัดถ่ายสัญญาฉบับคำแปลฉบับภาษาไทย เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ตรวจสอบข้อความในสัญญาฉบับภาษาอังกฤษที่ศาลอนุญาตให้คัดแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีสาระสำคัญเกี่ยวกับขอบเขตและการใช้ลิขสิทธิ์ในการถ่ายถอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย เป็นเพียงเงื่อนไขทั่วไปเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์เท่านั้น
แต่ในการวินิฉัยและมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับตามประกาศพิพาท และการมีคำพิพากษาของศาล ปรากฏว่า ศาลได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับสาระสำคัญของสัญญาดังกล่าว ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ระหว่าง ผู้ฟ้องคดี กับ FIFA และเอกสารแนบท้ายทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนมากกว่าที่ศาลอนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คัดถ่าย ซึ่งการดําเนินกระบวนการพิจารณาคดีในลักษณะเช่นว่านั้น มีผลกระทบต่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการดําเนินคดีปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นเหตุให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งไม่ได้กระทบเฉพาะการดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามที่กฎหมายกําหนดเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของประชาชนในการเข้าถึงรายการสําคัญแล้ว ยังเป็นการดําเนินการที่ขัดต่อมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 วรรคสอง
ด้วยข้อเท็จจริงทั้งหมด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงขอศาลปกครองสูงสุดโปรดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และขอให้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีด้วย
พ.อ. ดร. นที กล่าวย้ำว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 มีวัตถุประสงค์จะทำให้ประชาชนโดยทั่วไปไม่จำกัดเฉพาะผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงรายการตามภาคผนวกแนบท้ายประกาศได้ และคุ้มครองสิทธิที่มีมาแต่เดิมของประชาชนชาวไทยรวมถึงผู้ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงรายการที่เป็นประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกับประชาชนอื่นๆ การยื่นอุทธรณ์ของ กสท. เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้ได้รับชมรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2014 (FIFA World Cup Final) ผ่านฟรีทีวีได้ เช่น อดีตที่ผ่านมาตั้งแต่ พ.ศ. 2513
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
Download
Press-Release-290457-กสทช-ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดพร้อมขอให้ศาลยกฟ้องฯi.doc
สร้างโดย - (14/3/2559 16:32:30)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 1230