กสทช. รับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์ "คืนแบตเก่า เรารักษ์โลก"

กสทช. เล็งเห็นภัยจากขยะอิเล็กทรอสนิกส์และขยะโทรคมนาคม จัดกิจกรรมรณรงค์ “คืนแบตเก่า เรารักษ์โลก” ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ เบื้องต้นจัดจุดรับคืนขยะพิษกว่า 300 จุด ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาทิ ศูนย์บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าทั่วไป
    นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เผยว่า “ในปี 2556 สำนักงาน กสทช. ได้มีการศึกษาแนวทากำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะโทรคมนาคมในประเทศไทย โดยผลจากการศึกษาในเบื้องต้น พบว่า ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า WEEE (Waste from Electrical and Electronic Equipment) เป็นซากผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งใช้งานไม่ได้ หรือไม่ได้มาตรฐาน (Off-Spec) หรือหมดอายุการใช้งานแล้ว ซากผลิตภัณฑ์เหล่านั้น กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก และค่อยๆ เพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกปี ตามปริมาณการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์”
    ด้าน นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เผยว่า “กรมควบคุมมลพิษได้คาดการณ์ปริมาณซากโทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์มือถือในปี ๒๕๕๕ ว่าจะมากถึง ๘,๕๒๔,๐๐๐ เครื่อง และจะพุ่งขึ้นไปเป็น ๑๐,๙๐๗,๐๐๐ เครื่องในปี ๒๕๕๙ ซึ่งคาดว่าสัดส่วนซากจากโทรศัพท์มือถือน่าจะมีจำนวนมากกว่า และหากเปรียบเทียบปริมาณโทรศัพท์มือถือ ๑๐,๙๐๗,๐๐๐ เครื่อง ก็ต้องใช้สนามฟุตบอลขนาดมาตรฐานประมาณ ๖ สนามครึ่งจึงจะวางเรียงได้ทั้งหมด นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยส่วนใหญ่จะมีแบตเตอรี่และหน้าจอผลึกเหลว (Liquid Crystal Display : LCD) เป็นส่วนประกอบ จึงปฏิเสธไม่ได้ปริมาณแบตเตอรี่เก่าและหน้าจอผลึกเหลว ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งในตัวโทรศัพท์เครื่อนที่นั้นจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย"
    อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในตัวโทรศัพท์มือถือนั้น ยังมีส่วนผสมของสารอันตราย ตั้งแต่สารหนู พลวง ตะกั่ว สารทนไฟที่ทำจากโบรมีน แคดเมียม ตะกั่ว นิกเกิล ส่วนจอผลึกเหลวก็มีสารประกอบอินทรีย์ที่เป็นสารอันตรายและสารก่อมะเร็ง เช่น Phenylcyclohexane,  Cyclohexane เป็นต้น ซึ่งจอผลึกเหลวนี้กำลังเป็นอีกตัวหนึ่งที่น่าวิตกกังวล เนื่องจากโทรศัพท์มือถือที่พัฒนาเป็นสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน มีหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น แต่ในเมืองไทยยังไม่มีวิธีรีไซเคิ้ล หากมีการทิ้งซากโทรศัพท์มือถือและซากแบตเตอรี่ปะปนไปกับขยะมูลฝอยชุมชน เมื่อเวลาผ่านไป ส่วนเปลือกห่อหุ้มของเครื่องโทรศัพท์และแบตเตอรี่จะเสื่อมสภาพหรือผุกร่อน สารเคมีที่เสื่อมสภาพ ภายในจะไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้สารพิษนี้เข้าสู่ระบบนิเวศและระบบห่วงโซ่อาหารผ่านทางน้ำ และอากาศ และก่อให้เกิดอันตรายต่างๆ ตามมาอีกมากมาย"
    นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "ในฐานะ กสทช. เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านโทรคมนาคมของประเทศ เราได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการทิ้งโทรศัพท์เคลื่อนที่และแบตเตอรี่เก่า จึงได้จัดกิจกรรมรองรับขยะอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคม “คืนแบตเก่า เรารักษ์โลก” เพื่อให้ผู้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่  ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยรณรงค์ให้ทิ้งแบตเตอรี่ที่ไม่ใช้แล้ว หรือแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพแล้ว ในจุดที่รับคืนแบตเตอรี่เก่า ที่ กสทช. จัดเตรียมไว้ให้ เพื่อจะได้รวบรวมแบตเตอรี่เก่าเหล่านั้น ไปจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการและความปลอดภัย ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณขยะเป็นพิษ และขยะที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อโลกที่สดใสน่าอยู่ของเราใบนี้



--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Download

  • คืนเเบตเก่าเรารักษ์โลก.docx

สร้างโดย  -   (14/3/2559 11:32:36)

Download

Page views: 1374