กสทช. สุภิญญาเผยสั่งระงับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายสถานีวิทยุหลัก หลังเครือข่ายผู้บริโภคส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามา

วันนี้ (5  พ.ย. 57 )  สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัด นำเสนอผลการเฝ้าระวังสื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางคลื่นวิทยุในช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน 2557 ชี้ชัด แม้ว่าจะอยู่ในช่วงการห้ามออกอากาศโดย คสช. แต่การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพยังคงพบโฆษณาสุขภาพผิดกม. โอ้อวดเกินจริง 29 สถานีทั่วประเทศ จากการสุ่มสำรวจ 33 สถานี  กสทช. ลั่นสั่งระงับโฆษณาทันที หากฝ่าฝืนปรับวันละ 20,000 บาท

    นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพประชาชน กล่าวในการแถลงข่าว โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายในยุค คสช.  ว่า กสทช. ร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค  10 จังหวัด  เพื่อสร้างนักร้องเรียนให้ช่วยติดตามตรวจสอบการเผยแพร่ออกอากาศทั้งวิทยุและโทรทัศน์หลังจากที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา   ซึ่งเป็นช่วงที่  คสช. ระงับการออกอากาศสถานีวิทยุทดลองประกอบกิจการ  แต่จากการเฝ้าระวังกลับพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิด กม.ในสถานีวิทยุหลักทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด A.M. และ F.M.  สำนักงาน กสทช. ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบและพบว่าผิดกฎหมายจริง 4 สถานีในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่  สถานีวิทยุทหารอากาศ 020 สถานีวิทยุ สวพ.ขอนแก่น  สถานีวิทยุเบสท์เรดิโอ  และสถานีวิทยุสุขภาพดีมีสุข  สำนักงาน กสทช. จะส่งหนังสือให้ระงับโฆษณาดังกล่าวหากฝ่าฝืนจะปรับวันละ 20,000 บาท  และกระทำผิดซ้ำจะส่งผลต่อการพิจารณาต่อใบอนุญาต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีวิทยุทดลองประกอบกิจการที่ได้สิทธิออกอากาศแล้วขณะนี้ 2,000 กว่าแห่ง ขอให้ระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหา หากกระทำผิดการโฆษณาอาหารและยาจะส่งผลต่อการพักใช้ใบอนุญาตได้

    “ขณะนี้ทราบว่าเครือข่ายผู้บริโภคกำลังติดตามเฝ้าระวังการนำเสนอเนื้อหาในสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี  หลังจากที่ได้รับอนุญาตออกอากาศแล้วว่ามีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิด กม.  และจะส่งข้อมูลเพื่อให้สำนักงาน กสทช. ด้วยในครั้งถัดไป”  นางสาวสุภิญญากล่าว

    นายพชร แกล้วกล้า ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค 10 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี เพชรบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด พะเยา ลำปาง สุราษฏร์ธานี สงขลา และสตูล ได้ร่วมกับ กสทช. ในการดำเนินโครงการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปีตั้งแต่ มิถุนายน 2557 ถึง พฤษภาคม 2558 ภายใต้สามยุทธศาสตร์หลักคือการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ การสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการและภาคีอื่น ๆ ในการจัดการปัญหาและการสร้างความตื่นตัวให้กับผู้บริโภค เท่าทันสื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ

    นายพชร กล่าวต่อว่า การแถลงข่าวในวันนี้เป็นการนำเสนอผลการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุซึ่งได้มีการเฝ้าระวังในช่วงที่ คสช. เข้ามาควบคุมการกระจายเสียงคือระหว่างเดือน มิถุนายน ถึง กันยายน 2557 ว่า ได้มีการเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อาหาร ยา และเครื่องสำอางในช่วงเวลาดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง ๆ ละ 1 สัปดาห์ ทางสื่อวิทยุจำนวน 33 คลื่นใน 10 จังหวัด แบ่งเป็นคลื่นหลัก จำนวน 31 คลื่น และคลื่นวิทยุออนไลน์จำนวน 2 คลื่น ซึ่งใน 31 คลื่น เป็นคลื่น FM 27 คลื่น และ คลื่น AM 4 คลื่น ทั้งนี้ พบว่า 29 คลื่น (ร้อยละ 88) มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โดย พบผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้นจำนวน 103 รายการ แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 54 รายการ ผลิตภัณฑ์ยา 35 รายการ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 13 รายการ และโฆษณาสถานพยาบาลจำนวน 1 รายการ

    น.ส.สิรินนา เพชรรัตน์ ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดสุราษฏร์ธานี กล่าวว่า หากแบ่งตามการกระจายตัวของการโฆษณา 3 อันดับแรกของผลิตภัณฑ์อาหารนั้น จะได้แก่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอายแคร์ซอฟท์เจล (5 จังหวัด) กาแฟลิลลี่พลัส (4 จังหวัด) และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเบญจไท, น้ำเห็ดสกัดมัชรูมพลัส, น้ำมันจมูกข้าวผสมน้ำมันรำข้าวตรายูนิไรซ์, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรีราล่า, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารวีเอ็มพลัส, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลูทีนพลัส และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนัตโตะทู (3 จังหวัด) ซึ่งโดยสรุปรวมนั้น ทั้ง 54 รายการของผลิตภัณฑ์อาหารที่พบสามารถจัดกลุ่มตามลักษณะของการโฆษณาได้เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มบำรุงร่างกาย-รักษาโรคเฉพาะ-รักษาสารพัดโรคซึ่งมีจำนวน 35 รายการ กลุ่มเสริมความงามจำนวน 15 รายการ กลุ่มเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ 4 รายการ ทางด้านผลิตภัณฑ์ยาเมื่อจัดกลุ่มตามการกระจายตัวของจังหวัดที่พบ 3 อันดับแรกนั้นจะได้แก่ วีกิ๊ฟ สมุนไพรชนิดน้ำและแคปซูลผสมว่านรากสามสิบ กับ กาโน 500  (6 จังหวัด), ป๊อก 109 กับ ยาน้ำสตรีฟลอร่าพลัส (5 จังหวัด), และยาระบายมะขามแขกตราลิลลี่ กับ ทวิน ยาสมุนไพรเขากวางอ่อน (4 จังหวัด) โดยที่ทั้ง 35 รายการของยาที่พบนี้ สามารถแบ่งกลุ่มตามเนื้อหาการโฆษณาได้เป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มยาอันตรายที่ห้ามโฆษณา จำนวน 3 รายการ กลุ่มยาที่โฆษณาเรื่องเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศ รวมถึงความสวย-ความงาม จำนวน 10 รายการ กลุ่มโฆษณารักษาครอบจักรวาล จำนวน 7 รายการ และ กลุ่มยาที่มีการโฆษณาลด แลก แจก แถม และชิงโชค เพื่อการขาย และส่งเสริมให้มีการใช้ยาเกินความจำเป็น จำนวน 15 รายการ

    ด้านนายนิรัตน์  เตียสุวรรณ  ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  เตือนว่าผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริง  และขณะนี้การทำงานร่วมระหว่าง อย. กับ สนง. กสทช. มีความก้าวหน้าไปมาก และทำให้การพิจารณารวดเร็วขึ้นกว่าเดิม  และค่าปรับของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มากกว่า พ.ร.บ.ยา  หลายเท่า  ทำให้การทำงานเรื่องนี้มีประสิทธิภาพดีขึ้นเป็นลำดับ

Download

  • ข่าวแถลงโฆษณาอาหารและยา_5-พ-ย-57-(3).doc

สร้างโดย  -   (10/3/2559 11:39:49)

Download

Page views: 424