กสทช. เห็นชอบในหลักการให้เลื่อนการจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลออกไป 1 ปี พร้อมมีมติเห็นชอบโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจากกองทุน กทปส. 14 โครงการ วงเงิน 47.909 ล้านบาท
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (22 เม.ย. 2558) ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเลื่อนการชำระเงินค่าประมูลดิจิตอลทีวีว่า จากสถานการณ์ที่ผ่านมาการประกอบกิจการทีวีดิจิตอลได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง การขยายโครงข่ายดิจิตอลทีวีไม่เป็นไปตามแผน รวมถึงคำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวมที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับจากดิจิตอลทีวีซึ่งมากกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับจากค่าประมูลทีวีดิจิตอล ที่ประชุม กสทช. จึงได้เห็นชอบในหลักการให้เลื่อนการชำระเงินค่าประมูลออกไปได้ 1 ปี โดยให้นำข้อสังเกตของกรรมการ กสทช. ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ดังนี้
1. เลื่อนการชำระเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลออกไป 1 ปี เฉพาะงวดที่ 2 เท่านั้น
2. หรือเลื่อนการชำระเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลของทุกงวดออกไป 1 ปี
3. การคิดดอกเบี้ยระหว่างเลื่อนการชำระการประมูล โดยคิดอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย
4. ให้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการต้องทำการช่วยเหลือผู้บริโภคด้วย
จากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ผ่านการพิจารณาจำนวน 14โครงการ รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 47,909,284 บาท และให้ชะลอไว้อีก 3 โครงการ เพื่อรอนโยบาย โดยโครงการที่ผ่านการพิจารณาทั้ง 14 โครงการ ได้แก่
1.โครงการสื่อสารและข่าวสารด้วยพลังแสงอาทิตย์เพื่อการพัฒนาของชุมชนแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จ.ตาก (สื่อสุริยะอาสา) ของม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก จำนวนเงิน 7,568,450 บาท
2.โครงการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาระบบทางไกลในถิ่นทุรกันดารโดยผ่านระบบอินเทอร์เนตความเร็วสูง ของมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จำนวนเงิน 8,653,000 บาท
3.โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวโทรทัศน์ด้านการสืบสวนสอบสวน ประจำปี 2557 ของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จำนวนเงิน 1,143,350 บาท
4.โครงการการเข้าถึงบริการสื่อสารวิทยุโทรทัศน์ของกลุ่มชาติพันธ์ชนเผ่าในประเทศไทย ของมูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์ จำนวนเงิน 1,870,500 บาท
5.โครงการจัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำผู้ปกครอง (Parent Port) เพื่อป้องกันเยาวชนจากการบริโภคเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมผ่านสื่อใหม่ ของศูนย์ศึกษานโยบายการสื่อสาร ม.สุโขทัยธรรมาธิราช จำนวนเงิน 1,696,000 บาท
6.โครงการความร่วมมือในภูมิภาคอาเซี่ยน : แนวทางปฏิรูปการจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ อินเทอร์เนต ของคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล จำนวนเงิน 2,343,819 บาท
7.โครงการออกแบบการสื่อสาร (Communication Design) เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคสื่อทีวีดิจิตอล ของสำนักส่งเสริมและบริการวิชาการพระจอมเกล้าลาดกระบัง จำนวน 2,471,700 บาท
8.โครงการการวิจัยและพัฒนาโทรทัศน์ที่รับผิดชอบต่อสังคมของประเทศไทย ของศูนย์ผู้นำธุรกิจเพื่อสังคมแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวนเงิน 1,636,030 บาท
9.โครงการหุ่นสายไทยใส่ใจผู้บริโภค ของมูลนิธิพัฒนาการศึกษาเด็ก จำนวนเงิน 2,196,920 บาท
10.โครงการเทเลโบกี้มหัศจรรย์สร้างเด็กอัจฉริยะด้านไอซีที ของสมาคมโทรคมนาคมเพื่อการพัฒนาประเทศ จำนวนเงิน 6,547,920 บาท
11.โครงการจัดตั้งศูนย์อินเทอร์เนตชุมชนเพื่อการเรียนรู้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับเด็กและเยาวชนและประชาชนทั่วไปจังหวัดสุพรรณบุรี ของมูลนิธิบ้านพระยาเฉลิมอากาศ จำนวนเงิน 4,992,680 บาท
12.โครงการพัฒนาความพร้อมระดับประเทศของการสื่อสารด้วยแสงสว่าง : การถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาบุคคลากรด้านกิจการโทรคมนาคม การจัดทำร่างมาตรฐานและสื่อ ของม.ราชภัฎนครปฐม จำนวนเงิน 2,265,939 บาท
13.โครงการสื่อสารปลอดภัยสูงสุดด้วยรหัสลับควอนตัม : การถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาบุคคากร ของม.นเรศวร จำนวนเงิน 2,254,490 บาท
14.โครงการออกแบบระบบสมองกลอัจฉริยะสำหรับการสื่อสารแบบไร้สาย ของม.เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จำนวนเงิน 2,268,486 บาท
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
Download
Press-Release-220458.doc
สร้างโดย - (9/3/2559 11:52:42)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 228