การประชุมสัมมนาเรื่อง บทบาทอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ต่อ Telecommuting “Work Anywhere Anytime เพื่อประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืนต่อสังคม องค์กร และพนักงาน”
โดย คณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
สืบเนื่องจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปีพ.ศ. 2538 เผยแพร่ในสื่อโทรทัศน์ทรงแนะนำการแก้ปัญหาจราจรอย่างยั่งยืนด้วยการแก้ปัญหาที่ต้นทางคือ “ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ประชาชนต้องเดินทางไปทำงาน” เป็นพระราชดำรัสที่สั้นแต่เปี่ยมด้วยพระปรีชาในความคิดที่ล้ำสมัย จนถึงปัจจุบันถึงได้เป็นที่ประจักษ์ในความหมายที่พระองค์ฯ ทรงดำรัสไว้เมื่อ ๒๐ ปีที่ผ่านมา
กอปรกับแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555 - 2559) ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนได้ใช้บริการที่หลากหลายผ่านโครงข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัย เท่าเทียมทั่วถึง ในราคาที่เหมาะสม บนพื้นฐานการแข่งขันที่เป็นธรรม ภายใต้การใช้ทรัพยากรโทรคมนาคมอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการใช้งาน และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแห่งชาติ โดยหนึ่งในอำนาจหน้าที่คือ การจัดทำแนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประเทศไทย เพื่อรองรับการพัฒนาธุรกิจการค้า การศึกษา การบริหารงานทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมทั้งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยการสนับสนุน ผลักดันให้ telecommuting เกิดเป็นรูปธรรมในประเทศ นับเป็นอีกหนึ่งการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน ประธานคณะทำงานฯ ได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนร่วมผลักดันให้ telecommuting เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ของประเทศไทย อาทิเช่น ศาสตราจารย์ ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน ประธานมูลนิธิสถาบันวิทยาศาสตร์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ร่วมกับ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และ สมาคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันภัยพิบัติ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก ให้ พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) และพันเอก ดร. เศรษฐพงษ์ มะลิสุวรรณ ประธานกิจการโทรคมนาคม (กทค) เพื่อหารือเสนอให้มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการทำงานในลักษณะ telecommuting อย่างแพร่หลาย และ ศาสตราจารย์ ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน ยังได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันภัยพิบัติ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ เร่งผลักดันกฎหมายภาษีจูงใจการทำงานจากบ้าน นำผลประโยชน์ทางภาษีจูงใจทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เป็นต้น
Telecommuting เป็นรูปแบบการทำงานที่พนักงานไม่จำเป็นต้องเดินทางมาทำงานที่สถานที่ทำงานตามปกติ ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในยุคดิจิทัล ทำให้เราสามารถทำงานได้จากที่พักอาศัย หรือสถานที่อื่นๆ โดยทำงานได้ไม่แตกต่างจากเดิมที่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปที่ทำงาน
จากสภาพการจราจรที่ติดขัด ต้องใช้เวลาบนท้องถนนเป็นเวลานาน ทำให้หลายหน่วยงานให้ความสำคัญกับแนวโน้มการทำงานรูปแบบใหม่อย่าง telecommuting ซึ่งเข้ามาช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ประหยัดเวลา และที่สำคัญลดความเครียดให้กับพนักงาน ที่ต้องผจญกับสภาพการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนน การเริ่มปรับรูปแบบการทำงานเป็น telecommuting เพียงไม่กี่วันต่อสัปดาห์ ก็สามารถช่วยบรรเทาลดสภาพการจราจรที่เป็นอยู่ในปัจจุบันลงได้ ช่วยลดการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดการใช้พลังงานซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศที่ต้องอาศัยการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นพนักงานยังมีเวลาเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีโอกาสทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ สร้างความสุข ส่งเสริมสุขภาพอนามัย ให้เวลากับครอบครัวได้มากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลดีโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงาน และสังคมในภาพรวมของประเทศอย่างชัดเจน
ด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง บริการคลาวด์ (cloud-based service) และซอฟต์แวร์สนับสนุนการทำงานร่วมกัน (collaboration software) จะทำให้ระยะทางไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานอีกต่อไป การทำงานที่มีลักษณะยืดหยุ่นทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งองค์กรและลูกจ้าง จากการศึกษาล่าสุดของ Internetional Data Corporation (IDC) [2] พบว่า mobile worker ในสหรัฐอเมริกา มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจาก 96.2 ล้านคนในปี ค.ศ. 2015 เป็น 105.4 ล้านคน ในอีกห้าปีข้างหน้า และจากการสำรวจ [2] คนทำงานที่ใช้ความรู้ (knowledge worker) กว่า 3,000 ราย ในอเมริกาเหนือ ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และหลายประเทศในเอเชีย พบว่า มากถึงร้อยละ 79 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า ปัจจุบันทำงานนอกสถานที่อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ ในยุคโลกาภิวัตน์ อย่างทุกวันนี้ ประเทศไทยพร้อมที่จะปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วหรือยัง
การจัดการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ คณะทำงานฯ ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิทยาศาสตร์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สมาคมอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สมาคมโรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิสหวิทยาการเพื่อการวิจัยและพัฒนา คณะกรรมการสหวิทยาการเพื่อการวิจัยและพัฒนา สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางแห่งสิงคโปร์ โดยจัดให้เป็นเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น หาแนวทางความร่วมมือ ร่วมกันผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้งานจริงจากทุกภาคส่วน ผ่านการอภิปายของผู้เชี่ยวชาญจาก สมาคมอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล ประสบการณ์การใช้งานจริงในแวดวงการแพทย์จากแพทย์ผู้บริหารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และโรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมข้อมูลระบบไอทีเพื่อการรองรับ telecommuting จากบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย (จำกัด) พร้อมผู้บริหารระดับสูงจาก 44 หน่วยงาน เข้าร่วมประชุมสัมมนาในครั้งนี้
คณะทำงานฯ มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การจัดการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง Work Anywhere Anytime เพื่อประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืนต่อสังคม องค์กร และพนักงาน และก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเรียนรู้ร่วมกัน เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม และขยายผลในวงกว้าง รวมถึงเป็นการจุดประกายความคิดให้กับทุกท่านนำไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน เพื่อสร้างองค์กรให้เป็น Happy workplace Work Anywhere Anytime ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สอดรับกับเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคปัจจุบัน
[1] Bassett, Crook, U.S. Mobile Worker Forecast 2015-2020, 2015. http://www.idc.com/getdoc.jsp?containerId=256194 (Accessed 2015-05-29)
[2] Sean O'Brien, PGi's New Survey Reveals the Latest Global Telework Stats, 2015. http://blog.pgi.com/2015/06/pgi-global-telework-survey/ (Accessed 2015-05-29)
Download
Press_Release.docx
สร้างโดย - (8/3/2559 16:15:20)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 201