บอร์ดกระจายเสียง/กสทช. แถลงผลการประชุมวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557
พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประธาน กสท.) กล่าวว่า วันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2557) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีวาระสำคัญ ดังนี้
เรื่องที่ 1 ที่ประชุม กสท. มีมติเห็นชอบคำขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง จำนวน 89 ราย แบ่งเป็นกิจการบริการธุรกิจ 86 ราย กิจการบริการสาธารณะ 2 ราย และกิจการบริการชุมชน 1 ราย รวมทั้งสิ้นถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศ 3,922 ราย
เรื่องที่ 2 ที่ประชุม กสท. อนุญาตกรอบแนวทางการพิจารณาทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับ การอนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคม สำหรับโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เพื่อการสร้างโครงข่ายเกิดความเป็นธรรมและไม่เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค รวมถึงผู้ได้รับใบอนุญาต โดยกรอบฯดังกล่าวมีใจความสำคัญ 6 ข้อ ดังนี้
1.ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาตการประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล และเงื่อนไขการใช้ความถี่วิทยุตามประกาศของ กสทช.
2. การตั้งสถานีวิทยุคมนาคมจะต้องไม่สร้างความสับสนและภาระในการปรับทิศทางของสายอากาศรับสัญญาณโทรทัศน์ของประชาชน
3. สถานีหลัก(Main Station), สถานีเสริม (Additional Station)และสถานีเสริมสำหรับการรับสัญญาณแบบ portable indoor (PI Gap Filler) ของแต่ละโครงข่ายในทุกเขตบริการจะต้องสอดคล้องกับแผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ข้อเสนอแนะทางเทคนิคของคณะทำงานด้านเทคนิคสำหรับการทดลองระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลและข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศITU รวมทั้งจะต้องอยู่บนที่ตั้งเดียวกันและต้องออกอากาศบนระบบสายอากาศเดียวกัน
4. สถานีเสริมสำหรับการรับสัญญาณแบบ Portable indoor (PI Gap Filler) จะต้องเป็นสถานีวิทยุคมนาคมซึ่งเป็นโครงข่ายแบบความถี่เดียว (Single Frequency Network, SFN) ร่วมกับ สถานีหลักหรือสถานีเสริมของเขตบริการนั้น โดยพื้นที่ครอบคลุมจะต้องไม่เกินจากพื้นที่ครอบคลุมของสถานีวิทยุคมนาคมซึ่งเป็นสถานีหลักหรือสถานีเสริมของเขตบริการนั้นด้วย นอกจากนี้ต้องเป็นสถานีวิทยุคมนาคมที่มีกำลังส่งต่ำ
5. การพิจารณากำลังส่งออกอากาศ (ERP) ของสถานีวิทยุคมนาคมต้องพิจารณาจากกำลังส่งออกอากาศสูงสุดตามแผนความถี่วิทยุเป็นหลัก และอาศัยข้อเสนอแนะทางเทคนิคของคณะทำงาน ด้านเทคนิคสำหรับการทดลองระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลรวมทั้งข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญจากITUประกอบ ทั้งนี้ให้ถือเป็นกำลังส่งออกอากาศ (ERP) สูงสุดที่สามารถอนุญาตได้ ในกรณีสายอากาศซึ่งเป็นโพลาไรเซชันแบบผสม (Mix Polarization) ให้พิจารณาจากผลรวมของกำลังส่งออกอากาศจากโพลาไรเซชันแบบแนวนอน (Horizontal Polarization) และกำลังส่งออกอากาศจาก โพลาไรเซชันแบบแนวตั้ง(Verical Polarization)
6. คุณลักษณะทางเทคนิคของสถานีวิทยุคมนาคมและพื้นที่ครอบคลุมของสัญญาณจะต้องสอดคล้องกับแผนความถี่วิทยุ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดการรบกวนต่อสถานีวิทยุคมนาคมอื่น
เรื่องที่ 3 ที่ประชุม กสท. พิจารณาการออกอากาศช่องรายการโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก บนโครงข่ายระบบดิจิตอล ในช่วงการออกอากาศคู่ขนาน (Simulcast) ดังนี้
- สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) ใช้คลื่นความถี่ในการออกอากาศช่องรายการโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกคู่ขนานบนโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของกรมประชาสัมพันธ์ ในหมายเลขช่องความถี่วิทยุสำหรับมัลติเพล็กซ์ที่ 1 ทั้งนี้การออกอากาศคู่ขนานจะสิ้นสุดลงเมื่อมีการยุติการออกอากาศในระบบแอนะล็อก
- สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5) ใช้คลื่นความถี่ในการออกอากาศช่องรายการโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกคู่ขนานบนโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของกองทัพบก ในหมายเลข ช่องความถี่วิทยุสำหรับมัลติเพล็กซ์ที่ 2 ทั้งนี้การออกอากาศคู่ขนานจะสิ้นสุดลงเมื่อมีการยุติ การออกอากาศในระบบแอนะล็อก
- สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ (ช่อง 9) และสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ใช้คลื่นความถี่ ในการออกอากาศช่องรายการโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกคู่ขนานบนโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในหมายเลขช่องความถี่วิทยุสำหรับมัลติเพล็กซ์ที่ 3 ทั้งนี้การออกอากาศคู่ขนานจะสิ้นสุดลงเมื่อเริ่มต้นการแพร่ภาพออกอากาศของกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการธุรกิจ
- สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย (ไทยพีบีเอส) ) ใช้คลื่นความถี่ในการออกอากาศช่องรายการโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกคู่ขนานบนโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลขององค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ในหมายเลขช่องความถี่วิทยุสำหรับมัลติเพล็กซ์ที่ 4 ทั้งนี้การออกอากาศคู่ขนานจะสิ้นสุดลงเมื่อมีการยุติการออกอากาศในระบบแอนะล็อก
- สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ใช้คลื่นความถี่ในการออกอากาศช่องรายการโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกคู่ขนานบนโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของกองทัพบก ในหมายเลขช่องความถี่วิทยุสำหรับมัลติเพล็กซ์ที่ 5 ทั้งนี้การออกอากาศคู่ขนานจะสิ้นสุดลงเมื่อเริ่มต้นการแพร่ภาพออกอากาศของกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการธุรกิจ
เรื่องที่ 4 ที่ประชุม กสท. รับทราบผลการเลือกหมายเลขลำดับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ และเห็นชอบให้ผู้ได้รับใบอนุญาตตามบทเฉพาะกาล แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 (ผู้ประกอบการรายเดิม) ตามบทเฉพาะกาล (ข้อ 8) ของประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป พ้นจากหน้าที่ในการดำเนินการตามประกาศฯ 30 วันหลังจากการออกอากาศโทรทัศน์ ในระบบดิจิตอล และเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งการดำเนินการตามมติ กสท. เรื่องแนวทางการออกอากาศช่องรายการโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกบนโครงข่ายระบบดิจิตอลในช่วง การออกอากาศคู่ขนาน (simulcast) ของกองทัพบก กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยจะต้องปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป
เรื่องที่ 5 ที่ประชุม กสท. พิจารณากรณีการดำเนินกิจการโทรทัศน์ในระบบDVB – T/H ช่อง 58 บนคลื่นความถี่ UHF ระหว่าง บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) กับบริษัท อินเตอร์เนชั่นเนิลเอนจีเนียริ่ง จำกัด(มหาชน) มีมติดังนี้
การจัดสรรความถี่วิทยุโทรทัศน์ ช่อง 58 ของกรมไปรษณีย์โทรเลขแก่องค์การสื่อสารมวลชน แห่งประเทศไทยในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็น บมจ. อสมท) เพื่อเสริมจุดบอดการรับโทรทัศน์ในเขตกรุงเทพฯ แต่ บมจ. อสมท นำไปใช้ในการให้บริการโทรทัศน์ ระบบDVB – T/H ซึ่งเป็นระบบดิจิตอล เป็นการให้บริการโทรทัศน์ประเภทอื่นนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตอยู่เดิม จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมายขัดต่อมาตรา 44 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 กสทช. จึงได้สั่งการให้ บมจ. อสมท ดำเนินการแก้ไขการใช้งานคลื่นดังกล่าวให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุญาต ประกอบกับที่ประชุมกสทช. ครั้งที่ 7/2556 มีมติกำหนดให้คืนคลื่นความถี่ดังกล่าวตามมาตรา 83 วรรคสาม ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ กสทช. มีมติเห็นชอบ การกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่
เรื่องที่ 6 ที่ประชุม กสท. พิจารณากรณีการให้บริการโทรทัศน์ ประเภทบอกรับเป็นสมาชิกระบบMMDS ระหว่างบริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) กับบริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด(มหาชน) มีมติดังนี้
กรณีที่ 1 สัญญาระหว่างทั้ง 2 บริษัทต้องนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมในประเด็นการคำนวนเงินลงทุนของ บมจ.ทรูวิชั่นส์ ตกลงจ่ายเป็นค่าตอบแทนที่มีรายได้จากการโฆษณาให้แก่ บมจ. อสมท และการแก้ไขข้อกำหนดในสัญญาฯ ให้บมจ.ทรูวิชั่นส์ สามารถหารายได้จากการโฆษณานั้นขัดต่อกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งการเสนอมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการกรณีสิ้นสุดสัญญาการให้บริการแก่สำนักงาน กสทช. หลังจากทางคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายวินิจฉัยและให้นำเสนอต่อที่ประชุม กสท.อีกครั้ง
กรณีที่ 2 ที่ บมจ. อสมท ขออนุญาตเพื่อการทดลองและทดสอบสำหรับให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก บนคลื่นความถี่ MMDS ด้วยข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พิจารณาได้ว่าการขออนุญาตฯ ของ บมจ. อสมท ถือเป็นการขออนุญาตที่จะต้องดำเนินการตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับการใช้คลื่นตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ แต่ปรากฏว่าคลื่นความถี่ 2500-2690 MHz เป็นคลื่นที่ถูกกำหนดให้ใช้ในกิจการโทรคมนาคม ไม่ใช่คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ดังนั้น กสท. จึงไม่สามารถพิจารณาอนุญาตให้ บมจ. อสมท ดำเนินการนำเข้าอุปกรณ์เพื่อทดลองหรือทดสอบสำหรับให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก บนคลื่นความถี่ MMDS ด้วยเทคโนโลยี BWA ตามที่ร้องขอได้
เรื่องที่ 7 ที่ประชุม กสท. พิจารณากรณีการให้บริการส่งวิทยุโทรทัศน์ ประเภทบอกรับสมาชิกระบบ MMDS ระหว่างกรมประชาสัมพันธ์กับบริษัท เวิลด์ สตาร์ ทีวี (ไทยแลนด์) จำกัด มีมติดังนี้
เมื่อพิจารณาจากการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของสัญญา การอนุญาต หรือสัมปทาน ระหว่างกรมประชาสัมพันธ์กับบริษัท เวิลด์ สตาร์ ทีวี (ไทยแลนด์) ไม่มีผลผูกพันอยู่ในวันที่ พ.ร.บ. องค์จัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 มีผลบังคับใช้ จึงไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามมาตรา 75 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 จึงไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิในประกอบกิจการตามมาตรา 75 สิทธิในการใช้คลื่นความถี่วิทยุย่อมกลับคืนสู่กรมประชาสัมพันธ์ในฐานะผู้ได้รับ การจัดสรรคลื่นความถี่จากกรมไปรษณีย์โทรเลขมาแต่เดิม การจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าว กรมประชาสัมพันธ์ได้รับการจัดสรรคลื่นเพื่อประกอบกิจการ ซึ่งไม่ปรากฏข้อมูลว่ากรมประชาสัมพันธ์ได้ประกอบกิจการดังกล่าวด้วยตนเอง จึงเห็นได้ว่าเหตุแห่งความจำเป็นในการใช้คลื่นดังกล่าวของ กรมประชาสัมพันธ์ได้สิ้นสุดลงแล้ว ดังนั้นกรมประชาสัมพันธ์จึงต้องคืนคลื่นดังกล่าวกลับมายัง สำนักงาน กสทช. เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามแผนแม่บทการบริหาร คลื่นความถี่ พ.ศ. 2555 ต่อไป
เรื่องที่ 8 ที่ประชุม กสท. พิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่และกำหนดระยะเวลา การถือครองคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 (บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด) มีมติว่าการทำสัญญาระหว่างบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์ เทนเม้นท์ จำกัด กับ บมจ. อสมท ชอบด้วยกฎหมายตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. 2555 จึงมีความจำเป็นให้ดำเนินกิจการจนกว่าสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุด ทั้งนี้ให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปกับการดำเนินการอนุญาตตามบทเฉพาะกาลของกฏหมาย และเสนอให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณาอนุมัติด้วย
เมื่อ กสทช. ออกใบอนุญาตให้กับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ตามกรอบสัญญาสัมปทาน การกำกับดูแลก็จะเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ส่วนการจ่ายรายได้ค่าตอบแทนจะเป็นไปตามสัญญาสัมปทาน
Download
Press_Release.docx
สร้างโดย - (15/3/2559 13:48:38)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 95