แถลงผลการประชุม กสทช. วันที่ 14 สิงหาคม 2557
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (14 ส.ค. 57) ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 8/2557 มีการอภิปรายและเสนอแนะอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับกระบวนการ ขั้นตอนและวิธีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล โดยยึดความโปร่งใส เป็นธรรม และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันมากที่สุด โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนทั้งในด้านความสะดวกในการเข้าถึงจุดรับบริการที่จะต้องจัดให้มีเป็นการทั่วไป และจุดให้มีหลักประกันหรือจุดบริการหลังการขายที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว ในประเด็น การจัดพิมพ์คูปอง การแจกจ่ายคูปองให้กับประชาชน 22.9 ล้านครัวเรือน ประเด็นคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อจำหน่ายเครื่องและอุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล อาทิ ทุนจดทะเบียน เงินวางหลักประกัน การกำหนดจุด ประเด็นการแลกซื้อเครื่องและอุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (การใช้คูปอง) ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้สำนักงาน กสทช. ไปรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) กับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ผู้ประกอบการเซ็ตท็อปบ็อกซ์ รวมถึง NGO และให้นำเรื่องกระบวนการ ขั้นตอนและวิธีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ไปพิจารณาต่อในวันที่ 20 ส.ค. 2557
จากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ให้นำร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. ... ไปรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมต่ออีก 30 วัน หลังจากที่ได้มีการนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเป็นการทั่วไปมาแล้ว เนื่องจากผู้ประกอบกิจการฯ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศดังกล่าว ประกอบกับยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้มีความครบถ้วนมากยิ่งขึ้น โดยสาระสำคัญของร่างประกาศฉบับดังกล่าว คือ การกำหนดระยะเวลาการจัดให้การบันทึกรายการที่ได้ออกอากาศไปแล้ว สำหรับรายการกิจการโทรทัศน์ และรายการกิจการกระจายเสียง
และ ที่ประชุม กสทช. ได้มีการอธิปรายและตั้งข้อสังเกตต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดลักษณะและมาตรการกำกับดูแลการควบรวมกิจการการถือหุ้นไขว้ และการครอบงำกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... จากนั้นจึงมีมติให้สำนักงาน กสทช. นำข้อคิดเห็นและข้อสังเกตต่อร่างประกาศดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเป็นการทั่วไปของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนพร้อมกับร่างประกาศด้วย ทั้งนี้ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดลักษณะและมาตรการกำกับดูแลการควบรวมกิจการการถือหุ้นไขว้ และการครอบงำกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขัน และเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตการควบรวม การถือหุ้นไขว้ และการครอบงำในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยเน้นมิติในเชิงเศรษฐศาสตร์และกำกับดูแลการแข่งขัน
นอกจากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ ย่านความถี่ 380-510 MHz และร่างแผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ทางบกและกิจการประจำที่ที่เกี่ยวข้องที่ผ่านการพิจารณาของที่ประชุม กทค. แล้ว ดังนี้
1. ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ ย่านความถี่ 380-510 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)
2. ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ทางบก ระบบ Digital Trunked Radio ย่านความถี่ 380-399.9 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)
3. ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ทางบกและกิจการประจำที่ ย่านความถี่ 401-405.9 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) 406.2-410 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ 430-450 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)
ทั้งนี้ ที่ประชุม กสทช. ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำร่างประกาศดังกล่าวออกรับรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเป็นการทั่วไปของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนต่อไป
ร่างประกาศ กสทช. ดังกล่าวเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ในย่านความถี่ 380-510 MHz โดยมีสาระสำคัญเพื่อส่งเสริมการใช้คลื่นความถี่ภายในประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพียงพอต่อความต้องการใช้คลื่นความถี่ของทุกภาคส่วนในระยะยาว สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ในการเตรียมคลื่นความถี่สำหรับกิจการเคลื่อนที่ทางบกทั้งระบบ Conventional และ ระบบ Digital Trunked Radio ให้เพียงพอต่อความต้องการของทุกภาคส่วนในระยะยาว และยังเป็นการเตรียมโยกย้ายการใช้งานกิจการเดิมออกจากคลื่นความถี่ 570-510 MHz เพื่อรองรับการใช้งานของกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้งานย่านความถี่ดังกล่าว และเปิดให้ย่านความถี่ 700 MHz สามารถนำมาใช้สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล IMT ได้
จากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ ย่านความถี่ 806-824/851-869 MHz และร่างแผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ทางบกระบบ Trunked Radio ย่านความถี่ 806-814/851-859 MHz ที่ผ่านการพิจารณาของที่ประชุม กทค. แล้ว ดังนี้
3.1 ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ ย่านความถี่ 806-824 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ 851-869 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)
3.2 ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ทางบก ระบบ Trunked Radio ย่านความถี่ 806-814 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ 851-859 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)
นอกจากนี้ยังอนุมัติให้สำรองย่านความถี่ 814-824/859-869 MHz ไว้สำหรับภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติเพิ่มเติมข้อสงวนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ทั้งนี้ที่ประชุม กสทช. ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำร่างประกาศดังกล่าวออกรับรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเป็นการทั่วไปของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนต่อไป
ร่างประกาศ กสทช. ดังกล่าวเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ในการโยกย้ายการใช้งานกิจการเดิมออกจากคลื่นความถี่ 814-824/859-869 MHz เพื่อเตรียมคลื่นความถี่ให้รองรับภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย (Public Protection and Disaster Relief: PPDR) และเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการเคลื่อนที่ทางบก ระบบ Trunked Radio ในย่าน 800 MHz ตามความต้องการของผู้ใช้คลื่นความถี่
และที่ประชุม กสทช. ยังได้มีมติเห็นชอบผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป เรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่วิทยุ 24.05 – 24.25 GHz 24.25 – 26.65 GHz และอนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์ที่ใช้ติดตั้งในรถยนต์ (Vehicle Radar) มีรายละเอียดดังนี้
1. อนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์ที่ใช้ติดตั้งในรถยนต์ดังนี้
1) คลื่นความถี่ 24.05 – 24.25 GHz กำลังส่ง (Transmitting power) ไม่เกิน 100 mW หรือ 20 dBm (peak power : e.i.r.p.)
2) คลื่นความถี่ 24.25 – 26.65 GHz กำลังส่ง (Transmitting power) -41.3 dBm/MHz (Maximum radiated average power density : e.i.r.p.)
3) คลื่นความถี่ 76 – 77 GHz กำลังส่งออกอากาศสมมูลแบบไอโซทรอปิก (Equivalent Isotropically Radiated Power : e.i.r.p.) ไม่เกิน 55 dBm
2. เห็นชอบการปรับปรุงร่างประกาศ กสทช. และ เห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง การอนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์ใช้ติดตั้งในรถยนต์ (Vehicle Radar) และ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์ที่ใช้ติดตั้งในรถยนต์ (Vehicle Radar)
โดยที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบและให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการพัฒนากฎ ระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การอนุญาตและข้อกำหนดมาตรฐานทางเทคนิค รวมทั้งเพื่อให้การใช้งานเครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์สำหรับติดตั้งในรถยนต์ในประเทศไทยมีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเทคโนโลยีและข้อกำหนดสากลที่เปลี่ยนแปลงไป
หลังจากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และเห็นชอบต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง นิยามของตลาด และขอบเขตของตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. ... และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... โดยร่างประกาศดังกล่าวเป็นการปรับปรุงให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และให้นำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
Download
Press-Release-140857.doc
สร้างโดย - (10/3/2559 17:34:30)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 38