คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านโทรคมนาคมสั่งดีแทคปรับปรุงบริการไลน์โมบาย พร้อมทั้งมีมติ เชิญทีโอที เข้าชี้แจงกรณีคลื่น 2300 MHz วันจันทร์ที่ 27 พ.ย. 2560

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (22 พ.ย. 2560) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้มายื่นเรื่องร้องเรียนเรื่องกรณีคลื่น 2300 MHz กับทางสำนักงาน กสทช. ในช่วงที่มีการประชุม กสทช. จึงได้ให้ผู้แทนไปรับ ซึ่งในเรื่องคลื่น 2300 MHz สำนักงาน กสทช. ได้บรรจุวาระให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านโทรคมนาคมได้พิจารณาในช่วงเช้าแล้ว เพื่อจะได้บรรจุเข้าวาระการประชุม กสทช. ในวันนี้ แต่ในชั้นคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านโทรคมนาคม ยังมีประเด็นข้อสงสัยในหลายเรื่องที่จะซักถาม จึงมีมติให้ผู้แทนบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการฯ ในประเด็นต่างๆ ในวันจันทร์ที่ 27 พ.ย. 2560 เวลา 13.00 น.
สำหรับกรณีการให้บริการไลน์โมบาย (Line Mobile) ได้มีมติคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านโทรคมนาคม ได้เห็นชอบรายงานผลการศึกษาของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการให้บริการไลน์โมบาย (Line Mobile) ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ ดังนี้
          1. จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในชั้นนี้ เห็นว่า การให้บริการไลน์โมบาย (Line Mobile) เป็นการให้บริการโดยบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด มิใช่เป็นการให้บริการโดยบุคคลอื่นหรือบริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ในลักษณะที่เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง หรือ MVNO
          2. มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งให้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงการให้บริการไลน์โมบายให้เป็นไปตามกฎหมายและประกาศของ กสทช. ในเรื่องดังต่อไปนี้
             2.1 ลงทะเบียนผู้ใช้บริการ (ซิมการ์ด) ให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรฐานกระบวนการพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้บริการ
             2.2 ดำเนินกระบวนการโอนย้ายเลขหมายสำหรับผู้ใช้บริการของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ให้มีลักษณะดังเช่นการเปลี่ยนแพ็คเกจภายในบริษัทเดียวกัน มิใช่การย้ายค่ายเบอร์เดิม
             2.3 แก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมการให้บริการเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจโดยชัดแจ้งว่า บริการไลน์  โมบายเป็นการให้บริการของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เช่น การโฆษณาผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทาง เว็บไซต์ที่เป็นช่องทางการซื้อซิมการ์ดและติดต่อบริการ การใช้ชื่อโครงข่าย (Network Name) เป็นต้น
              ทั้งนี้ หากบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ไม่ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงในเรื่องดังกล่าว ให้ดำเนินมาตรการบังคับทางปกครองแก่บริษัทต่อไป และมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ติดตามและรายงานผลต่อ กสทช. เป็นระยะๆ ทุก 1 เดือน
          3. มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงการให้บริการไลน์โมบายอย่างใกล้ชิด    หากปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าการให้บริการไลน์โมบายอาจจะเข้าข่ายเป็นการให้บริการในลักษณะ MVNO ให้รีบรายงานให้ กสทช. ทราบเพื่อพิจารณาต่อไป
นายฐากร กล่าวว่า สำหรับผลการประชุม กสทช. ที่สำคัญในวันนี้ ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาแนวทางการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) จำนวนประมาณ 15,732 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ช่วงที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) มอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันในพื้นที่ 24,700 หมู่บ้าน โดยทางสำนักงาน กสทช. ได้จ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินการศึกษาราคากลางและจุดที่จะให้บริการ โดยกรอบที่ศึกษาที่ได้วางกรอบไว้ คือ แนวทางที่ 1 ดำเนินการตามกรอบแนวทางที่ กสทช. ดำเนินการในส่วนของโครงการ USO เน็ตชายขอบที่ดำเนินการอยู่ว่าจะต้องใช้กรอบวงเงินในการดำเนินการเท่าไหร่ โครงการ USO เน็ตชายขอบที่ กสทช. ดำเนินการต้องมีอัตราค่าบริการไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน จะต้องมีการรับประกัน 5 ปี โครงข่ายต่างๆ ที่มีการจัดตั้งขึ้นมาจะต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ สถานที่ราชการของรัฐ ในพื้นที่ให้บริการจะต้องเปิดจุดเชื่อมต่อสัญญาณให้ฟรี ซึ่งจากการศึกษาถ้าจะดำเนินการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) ตามเงื่อนไขนี้ จะต้องใช้เงินเกือบ 20,000 ล้านบาท ในการดำเนินการ
แนวทางที่ 2 ดำเนินการตามขอบเขตงานและเงื่อนไขเช่นเดียวกับโครงการเน็ตประชารัฐที่กระทรวงดีอีมอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการขยายโครงข่าย และติดตั้งอุปกรณ์จุดบริการ Wi-Fi โดยมีระยะเวลาการสนับสนุนการให้บริการ 1 ปี ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันกรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 3,283.155 ล้านบาท แนวทางที่ 3 กรณีดำเนินการตามขอบเขตงานและเงื่อนไขเช่นเดียวโครงการเน็ตประชารัฐที่กระทรวงดีอีมอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ แต่เพิ่มระยะเวลาการสนับสนุนการให้บริการเป็น 5 ปี จะใช้กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 7,119.946 ล้านบาท โดยที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
1 .เนื่องจากมาตรา 50 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติให้ กสทช. มีอำนาจมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำเนินการตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมทั้งหมดหรือบางส่วนแทนได้ และในกรณีเช่นนั้นให้ กสทช. โอนเงินที่เรียกเก็บได้ตามที่กำหนดไว้ให้แก่กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อดำเนินการต่อไป ประกอบกับเพื่อให้การดำเนินการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) มอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ 24,700 หมู่บ้าน กับในส่วนที่ กสทช. รับผิดชอบจำนวนประมาณ 15,732 หมู่บ้าน เป็นไปตามขอบเขตและเงื่อนไขเดียวกัน ดังนั้น จึงมีมติเห็นชอบให้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำเนินการในพื้นที่ Zone C ตามขอบเขตงานและเงื่อนไขเช่นเดียวกับโครงการเน็ตประชารัฐที่กระทรวงดีอีมอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการโดยมีระยะเวลาการสนับสนุนการให้บริการ 1 ปี ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 3,283.155 ล้านบาท และให้ กสทช. โอนเงินไว้ให้แก่กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อดำเนินการต่อไป
2. ในกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไม่รับดำเนินการ ให้สำนักงาน กสทช. เร่งดำเนินการจัดประกวดราคาเพื่อจัดให้มีการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) ตามขอบเขตและเงื่อนไขเดียวกัน เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและ Wi-Fi สาธารณะได้ครบทุกหมู่บ้านภายในสิ้นปี 2561

สร้างโดย  - มหิตถีห์  จักราบาตร (22/11/2560 15:56:45)

Download

Page views: 632