กระทรวงดีอี และสำนักงาน กสทช. เห็นชอบร่วมกันที่จะส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยตระหนักต่อการแสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ข้อมูล บนโซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์ทั่วไป ว่าอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมหากข้อมูล หรือความคิดเห็นที่โพสต์ เป็นข้อมูลที่มีข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง

.. สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม กล่าวภายหลังการประชุมหารือร่วมกันว่า ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงาน กสทช. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการแสดงความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์ รวมถึงเว็บไซต์ที่เปิดให้มีการโหวตต่างๆ ที่ออกมาต่อสาธารณะ ซึ่งขณะนี้มีความเห็นแบ่งเป็นหลายฝ่าย บางกลุ่มก็เป็นกลุ่มที่เห็นด้วย บางกลุ่มก็เป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย โดยมีการร้องเรียนว่าบางเว็บไซต์มีการปิดการโพสต์ในกลุ่มของตัวเองลง บางกลุ่มก็ร้องเรียนว่า ชื่อของคนที่อยู่ในกลุ่มที่สนับสนุนไม่มีตัวตนอยู่จริง เป็นการแอบอ้างชื่อของบุคคลอื่นไปร่วมโหวต หรือแสดงความคิดเห็นแทน ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะผู้มีอำนาจตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 และสำนักงาน กสทช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย (ISP) ได้มีการติดตามตรวจสอบเรื่องนี้มาโดยตลอด ตามที่ประชาชนได้มีการส่งเรื่องร้องเรียนมาโดยตรง รวมถึงที่ได้มีการโพสต์แชร์ลงในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์สาธารณะที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย หรือเว็บไซต์อื่น
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงาน กสทช. ได้มีการประชุมหารือถึงข้อร้องเรียนต่างๆ เมื่อวานนี้ ( 6 ก.พ. 2561) โดยได้ข้อสรุปว่าเห็นควรที่จะแจ้งแนวทางการดำเนินการที่จะดำเนินการต่อเรื่องดังกล่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อให้ช่วยนำไปเผยแพร่เป็นข้อมูลให้กับประชาชน ดังนี้
1. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงาน กสทช. จะร่วมกันในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวตามข้อร้องเรียน เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยจะเข้าไปขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องทุกอย่างเพื่อมาวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง
2. ขอให้ประชาชนวิเคราะห์ข้อเท็จจริงก่อนแสดงความคิดเห็น หรืออย่าเพิ่งเชื่อในข่าวที่ปรากฏออกไป จนกว่าจะมีการตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงเหล่านั้นถูกต้อง ชัดเจนก่อน
ทั้งนี้ เพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบ ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งในบ้านเมืองอย่างที่ผ่านมา ทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงาน กสทช. จะพยายามสร้าง และผลักดันให้ประชาชนคนไทยตระหนักถึงความสำคัญในการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และเว็บไซต์ทั่วไป ว่าการจะแสดงความเห็น หรือการโพสต์ข้อความใดๆ ก็ตาม ควรมีการตรวจสอบว่าข้อมูล หรือความเห็นที่ได้รับมานั้น มีความถูกต้องมากน้อยแคไหน ก่อนที่จะนำไปเผยแพร่ต่อให้ผู้อื่นได้รับรู้ เพราะการโพสต์ข้อความ หรือการแสดงความเห็นต่างๆ อาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมได้
 

Download

  • ฉบับแก้ไข-ใช้ฉบับนี้-Press-Release-070261.doc

สร้างโดย  - Khemakanit  Sasilawan (8/2/2561 8:59:32)

Download

Page views: 249