สำนักงาน กสทช. จับมือ ดีอีเอส และปภ. หนุนสหพันธ์สมาคมวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่ายประเทศไทย จัดโครงการอบรมอาสาสมัครพนักงานวิทยุสมัครเล่น 1,000 คน ทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่เป็นเครือข่ายสื่อสารสำรองของชาติ
สำนักงาน กสทช. จับมือ ดีอีเอส และปภ. หนุนสหพันธ์สมาคมวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่ายประเทศไทย จัดโครงการอบรมอาสาสมัครพนักงานวิทยุสมัครเล่น 1,000 คน ทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่เป็นเครือข่ายสื่อสารสำรองของชาติ
สำนักงาน กสทช. ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สนับสนุนสมาพันธ์สมาคมวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่ายประเทศไทยพัฒนาและฝึกอบรมพนักงานวิทยุสมัครเล่นอาสาสมัครจำนวน 1,000 คน ให้มีความพร้อมทำหน้าที่เป็นระบบเครือข่ายสื่อสารสำรองของชาติ หรือระบบคู่ขนาน ที่พร้อมทำงานในเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน หรือภัยพิบัติ โดยเฉพาะในกรณีที่ระบบสื่อสารหลัก/ระบบสื่อสารสาธารณะไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ภาคประชาชนเกิดความเข็มแข็งสามารถช่วยเหลือหน่วยงานราชการในการรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การอบรมจะจัดขึ้น 4 ครั้ง ในพื้นที่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ โดยนักวิทยุสมัครเล่นสามารถสมัครเข้าร่วมการอบรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสมาคมวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่ายประจำจังหวัดที่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์สมาคมวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่ายประเทศไทย
ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พบว่า ในแต่ละปี ทุกภาคของประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก พายุฤดูร้อน พายุโซนร้อน แผ่นดินไหว ที่บางครั้งมีความรุนแรงมาก เช่น พายุไต้ฝุ่น สึนามิ ซึ่งทำให้ระบบสื่อสารสาธารณะใช้งานไม่ได้ชั่วคราว อาจเพราะโครงสร้างถูกทำลาย หรือไฟดับ หรือความต้องการการสื่อสารที่มากเกินกว่าที่ระบบปกติจะรองรับได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาในการแก้ไขประมาณไม่เกิน 72 ชั่วโมง แต่ในช่วงเวลานั้นเครือข่ายวิทยุสมัครเล่นยังสมารถทำงานได้อยู่ เนื่องจากเป็นเครือข่ายแบบ Stand Alone เชื่อมต่อกันด้วยคลื่นวิทยุ สถานีวิทยุสมัครเล่นของนักวิทยุสมัครเล่นตั้งกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศ เมื่อเกิดภัยพิบัติสามารถเคลื่อนย้ายเข้าไปตั้งสถานีสื่อสารฉุกเฉินในพื้นที่ที่ประสบเหตุได้อย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยในการสื่อสาร ประสานงานให้กับทางราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างทันท่วงที นอกจากนั้นสมาคมและพนักงานวิทยุสมัครเล่นซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่ รู้จักพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่เป็นอย่างดี รู้เส้นทางที่จะเข้าถึงพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ อีกทั้งรู้สภาพภัยพิบัติที่เกิดขึ้นประจำ สามารถให้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อทางราชการเพื่อวางแผนป้องกัน ลดความรุนแรง หรือแก้ไขสถานการณ์ได้
พนักงานวิทยุสมัครเล่นในสังกัด กสทช. มีประมาณแปดหมื่นคน กระจายอยู่ในทุกจังหวัด มีสมาคมวิทยุสมัครเล่นที่ กสทช. มอบหมายให้ทำหน้าที่สถานีวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่ายประจำจังหวัด เพื่อกำกับดูแลและทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับทางราชการ จังหวัดละ 1 แห่ง โดย สมาคมวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่ายประมาณร้อยละ 75 ได้รวมตัวกันเป็นสหพันธ์สมาคมวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่ายประเทศไทยและได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในงานนี้สำนักงาน กสทช. ได้อนุมัติงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สนับสนุนให้สหพันธ์สมาสหพันธ์สมาคมวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่ายประเทศไทย ซึ่งได้มอบหมายสมาคมนักวิทยุอาสาสมัครเป็นผู้แทนในการจัดทำโครงการพัฒนาและฝึกอบรมพนักงานวิทยุสมัครเล่นอาสาสมัครสื่อสารฉุกเฉินในสังกัด สำนักงาน กสทช. เพื่อคัดเลือกพนักงานวิทยุสมัครเล่นที่มีจิตอาสาจากทุกจังหวัดให้มาเข้ารับการอบรมเป็นอาสาสมัคร และจัดตั้งเครือข่ายสื่อสารสำรองของชาติในแต่ละจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม
สำนักงาน กสทช. ตระหนักถึงความสำคัญของการติดต่อสื่อสารเมื่อเกิดภัยพิบัติ เมื่อการสื่อสารหลักใช้งานไม่ได้ วิทยุสมัครเล่นจะเป็นช่องทางสื่อสารที่สำคัญที่ทำให้เราไม่ขาดการติดต่อในช่วงเวลาสำคัญ เพื่อสร้างนักวิทยุสมัครเล่นที่มีคุณภาพ มีคุณสมบัติที่เหมาะสม และมีความพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นระบบเครือข่ายสื่อสารสำรองของชาติ จึงได้สนับสนุนให้เกิดโครงข่ายสื่อสารสำรองของชาติขึ้น
#วิทยุสื่อสาร #โครงข่ายสื่อสารสำรองของชาติ
#การสื่อสารในภาวะวิกฤต
-----------------------------------------------------------------------------
สร้างโดย - ปฐมพงศ์ ศรีแสงจันทร์ (13/12/2564 9:04:58)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 336