กสทช. รับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2 ฉบับ เพื่อสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อม เพื่อส่งเสริมกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ให้มีคุณภาพ สร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
วันที่ 13 มิถุนายน 2566 ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ และ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง ร่วมเป็นประธานในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. 2 ฉบับ ได้แก่ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อม และสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งออนไลน์และออนไซต์กว่า 300 คน
ศ.ดร. พิรงรองฯ กล่าวว่า สภาพการณ์การแข่งขันในอุตสาหกรรมสื่อกระจายเสียงและโทรทัศน์ในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี (Digital Disruption) สภาวะเศรษฐกิจ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ท่ามกลางกระแสการแข่งขันกันเองทั้งระหว่างผู้ประกอบกิจการในประเทศและผู้ประกอบการแพลตฟอร์มออนไลน์จากภายนอกประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การผลิตเนื้อหารายการสื่อที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมเกิดขึ้นได้ยาก ขาดความหลากหลายของเนื้อหา ซึ่งกระทบกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และผู้ประกอบการเองยังไม่มีความพร้อมในการเข้าแข่งขันด้านเนื้อหากับผู้ประกอบการภายนอกประเทศได้อย่างมีทิศทาง รวมถึงตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมาประชาชนยังไม่ได้รับการส่งเสริมให้เข้าถึงสิทธิและสนับสนุนให้จัดทำบริการข้อมูลข่าวสารในระดับท้องถิ่นได้อย่างเพียงพอและมีคุณภาพ
"กสทช.ได้เร่งจัดทำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. สองฉบับ ได้แก่ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพ เพื่อใช้เป็นแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อกระจายเสียงและโทรทัศน์ให้จัดทำบริการข้อมูลข่าวสารได้อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนมีศักยภาพในการแข่งขัน โดยประชาชนในระดับท้องถิ่นจะสามารถเข้าถึงสิทธิที่จะสื่อสารถึงกันมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์สาธารณะในทุกระดับ เชื่อว่าด้วยผลของประกาศทั้งสองฉบับนี้จะทำให้เรามีเนื้อหาสื่อที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น พร้อมๆ กับการส่งเสริมกิจการชุมชน อีกทั้งยังช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตเนื้อหาสื่อไปสู่ระดับสากลอีกด้วยค่ะ" ศ.ดร. พิรงรอง ฯ กล่าว
พล.อ.ท. ดร. ธนพันธุ์ฯ กล่าวว่า สำหรับประกาศทั้ง 2 ฉบับต้องยกเครดิตให้ กสทช. ศ.ดร. พิรงรองฯ ที่เป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการจัดทำขึ้น ทำให้กิจการกระจายเสียงได้รับประโยชน์จากร่างประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ด้วย ซึ่งตรงกับความต้องการของผม และ กสทช. ศ.ดร. พิรงรองฯ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในการไปสู่วิสัยทัศน์ตามแผนแม่บทที่ได้ปรับปรุงขึ้นใหม่ในการ “ยกระดับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของไทยไปสู่มาตรฐานสากล เพื่อสร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน” อย่างไรก็ตามในส่วนของกิจการกระจายเสียงนั้น อาจจะยังไม่สามารถมุ่งเน้นเนื้อหาไปสู่ระดับสากลได้ดั่งเช่นกิจการโทรทัศน์ แต่ก็สามารถสนับสนุนเนื้อหาที่สร้างสรรค์ มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคมส่วนรวม และประเทศชาติ รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกิจการกระจายเสียงสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยเนื้อหาที่ดีมีคุณภาพ
“ในส่วนของความคิดเห็นที่สำนักงาน กสทช. ได้รับฟังมา อาทิ ความเห็นที่ให้เร่งรัดในการพิจารณาสนับสนุนจากเดิมใช้เวลา 90 วัน ให้เร็วขึ้น รวมทั้งข้อกังวลของผู้ประกอบกิจการที่อาจจะนำเสนอโครงการไม่ถูกต้องนั้น สำหรับกิจการกระจายเสียง ในเบื้องต้นอาจจะมีกรอบโดยกำหนดหัวข้อในแต่ละปีว่าเน้นเรื่องใดก่อนเป็นการเฉพาะ เพื่อให้การกลั่นกรองสามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งการมอบนโยบายที่ให้สำนักงาน กสทช.ส่วนภูมิภาคไปให้คำแนะนำในการนำเสนอโครงการแก่ผู้ประกอบการ ทั้งนี้ เมื่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ทั้งสองฉบับนี้ ที่ กสทช. ตั้งเป้าให้มีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายนนี้ จะได้ส่งผลในทางปฏิบัติได้ทันที ซึ่งก็น่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ กสทช. สามารถส่งเสริมและสนับสนุนกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ไปได้ด้วยดี” พล.อ.ท. ดร. ธนพันธุ์ฯ กล่าว
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////
สร้างโดย - ปฐมพงศ์ ศรีแสงจันทร์ (14/6/2566 13:45:31)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 95