สำนักงาน กสทช. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ฉบับที่ 2 พ.ศ. .... เพื่อรองรับการเปิดตลาดหลังเข้าสู่ระบบการอนุญาต

          ตามที่ กสทช.ชุดที่แล้วได้ออกประกาศ แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ฉบับที่ 1 มาตั้งแต่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 และ กสทช.ชุดปัจจุบันได้ดำเนินการจัดให้มีการประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566 ทำให้กิจการดาวเทียมสื่อสารได้เปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต เกิดการเปิดตลาดและการแข่งขันอย่างเสรี อย่างไรก็ตามในการจัดให้มีการประมูลที่ผ่านมายังคงมีสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอีก 2 ชุด ที่ยังไม่มีผู้ประกอบการที่ประสงค์จะใช้งาน ได้แก่ ชุดที่ 1 ที่ตำแหน่ง 50.5 E และ 51 E  และ ชุดที่ 5 ที่ 142 E ดังนั้น กสทช. จึงมีมติให้สำนักงานฯ พิจารณาดำเนินการปรับปรุงแผนการบริหารสิทธิฯ ดังกล่าว และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ณ หอประชุม ชั้น 1 อาคารสำนักงาน กสทช. กรุงเทพฯ และมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งออนไซต์และออนไลน์กว่า 200 คนโดยมี กสทช. พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ และ กสทช.รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ร่วมเป็นประธานฯ    
     ประเด็นหลักในการปรับปรุงแผนการบริหารสิทธิฯ ฯ
          ประเด็นหลักในการปรับปรุงแก้ไขและนำมารับฟังความคิดเห็น ที่สำคัญ สรุป คือ 
      1. แนวทางการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นสมบูรณ์ ที่แนวทางการดำเนินการอนุญาตของ กสทช. ในแผนฯ เดิม กำหนดให้ มีการ “คัดเลือก” ผู้ประกอบการหรือหน่วยงาน (Satellite Operator) ที่ประสงค์จะใช้งาน ในแผนฯ ใหม่ แก้ไขเป็น มีการ “คัดเลือกหรือจัดสรรโดยวิธีการอื่นตามที่ กสทช. กำหนด” ทั้งนี้เพื่อให้มีทางเลือกวิธีการอนุญาตที่หลากหลายมากขึ้น จะได้สอดคล้องกับสภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมดาวเทียมและส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบกิจการดาวเทียมได้มากรายขึ้น 
        2. การนำข่ายงานดาวเทียมมาอนุญาต ในแผนฯ เดิม กำหนดให้ กสทช. ต้องนำข่ายงานดาวเทียมที่เข้าข่ายตามกรณีดังกล่าว มาจัดชุด (Package) ในแผนฯ ใหม่ สามารถนำมาคัดเลือกหรือจัดสรรได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องจัดเป็นชุด เนื่องจากคงเหลือข่ายงานดังกล่าวไม่มาก เพื่อการอ่อนตัวในการคัดเลือกหรือจัดสรร อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ทั้งในทางเทคนิคและทางธุรกิจรวมทั้งด้านความมั่นคง เช่นเดิม 
 3. การปรับปรุงรายละเอียดสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมให้เป็นปัจจุบัน ทั้งประเภทวงโคจรดาวเทียมประจำที่ (Geostationary Orbit: GSO) และประเภทวงโคจรดาวเทียมไม่ประจำที่ (Non-Geostationary Orbit: NGSO) ที่ประเทศไทยต้องดำเนินการตามข้อบังคับวิทยุของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เพื่อให้ได้รับมาดำเนินการให้ข้อมูลในแผนฯ ใหม่ ถูกต้องเป็นปัจจุบัน ทั้งในส่วนของสิทธิขั้นต้นและสิทธิขั้นสมบูรณ์ 

“การปรับปรุงแผนบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะเป็นแนวทางในการนำไปสู่การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตสิทธิวงโคจรที่เหลือ โดยที่ กสทช.ต้องสร้างสมดุลระหว่างการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ และการให้ได้มาซึ่งผู้ประกอบการหรือหน่วยงานที่ประสงค์จะใช้งานโดยที่รัฐไม่เสียผลประโยชน์ รวมทั้งแผนฯ ดังกล่าวก็ต้องเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศหรือข้อบังคับของ ITU ที่เป็นไปตามหลักสากล และสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายแต่ก็ต้องดำเนินการ อย่างไรก็ตามในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันนี้ ได้รับข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อจะได้นำมาใช้ในการปรับปรุงแผนฯ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป“ พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ฯ กล่าว
---------------------------------------

สร้างโดย  - ปฐมพงศ์  ศรีแสงจันทร์ (17/10/2566 15:20:12)

Download

Page views: 55