สำนักงาน กสทช. ทำการทดสอบเกณฑ์ที่ยอมรับร่วมกันระหว่างสถานีวิทยุกระจายเสียงระบบ FM เพื่อหาแนวทางในการใช้คลื่นความถี่วิทยุร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
วันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการในการทดสอบเกณฑ์ที่ยอมรับร่วมกันระหว่างสถานีวิทยุกระจายเสียง FM ที่ ห้องประชุมโกสินทร์ 1 (ชั้น 8) สำนักงาน กสทช.ภาค 1 กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ระบบ FM (วิทยุหลัก) และผู้แทนจากผู้ทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงระบบ FM (วิทยุทดลอง) เข้าร่วมประชุม เพื่อหาค่าเกณฑ์ที่ยอมรับร่วมกันระหว่างสถานีวิทยุกระจายเสียงระบบ FM หรือ ค่า SINAD (Signal to Noise and Distortion) ซึ่งเป็นค่าอัตราส่วนสัญญาณต่อสัญญาณรบกวนและการบิดเบือนของคุณภาพเสียง ที่เป็นค่ากำหนดเกณฑ์ “การรบกวนที่ยอมรับได้” (Acceptable Interference) เพื่อที่จะใช้ในการพิสูจน์ทราบเป็นรายกรณีต่อไป
ตามที่ สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำ “(ร่าง) แผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ FM” ที่เป็นการกำหนดคลื่นความถี่วิทยุที่จะสามารถอนุญาตได้ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสถานีวิทยุทดลองออกอากาศที่จะต้องยุติการออกอากาศในเดือนธันวาคม ปี 2567 นี้ โดยการจัดทำ (ร่าง) แผนความถี่ฯ ดังกล่าว ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดให้การอนุญาตใช้คลื่นความถี่วิทยุต้องไม่ก่อให้เกิดการรบกวนกับผู้ที่ได้รับอนุญาตอยู่ก่อนแล้ว และที่สำคัญต้องมีสัดส่วนเพื่อชุมชนและสาธารณะไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของการอนุญาต ทำให้ (ร่าง) แผนความถี่วิทยุฯ ดังกล่าว มีจำนวนคลื่นความถี่ที่จะสามารถนำมาอนุญาตได้ประมาณ 2,800 คลื่นความถี่ อย่างไรก็ตามหลังการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ได้มีข้อคิดเห็นให้มีการพิจารณาจำนวนช่องความถี่ให้มากขึ้น สำนักงาน กสทช. จึงได้หาแนวทางโดยทำการปรับเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ข้อตกลงการใช้งานคลื่นความถี่กับประเทศเพื่อนบ้าน และการอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ช่องข้างเคียง (Adjacent Channel) ภายใต้การยอมรับการกวนกันเองระหว่างสถานีที่จะได้รับใบอนุญาตใหม่ เป็นต้น ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนช่องความถี่วิทยุมาได้อีกประมาณห้าร้อยกว่าช่อง อย่างไรก็ตามในประเด็นการก่อให้เกิดการรบกวนกับสถานีหลักที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว ยังไม่สามารถนำมาบรรจุใน (ร่าง) แผนความถี่ฯ นี้ได้ โดยต้องทำการทดลองทดสอบร่วมกัน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลที่วิทยุหลักได้รับอนุญาตไปแทบทุกช่องแล้ว จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมร่วมกันในวันนี้
ลำดับขั้นตอนการทดสอบ ได้ให้กลุ่มสถานีวิทยุหลักและกลุ่มสถานีวิทยุทดลอง ส่งผู้แทนจำนวนเท่าๆ กัน และคัดเลือกเครื่องรับวิทยุจำนวนกลุ่มละ 2 เครื่อง เพื่อร่วมใช้ในการทดสอบ โดยทำการจำลองการส่งสัญญาณคลื่น 97.5 MHz จากสถานี 1 และจากสถานี 2 ด้วยการตั้งค่าเครื่องส่ง 1 และป้อนสัญญาณเสียง Tone 1 kHz แล้วปรับระดับความแรง จากนั้นตั้งค่าเครื่องส่ง 2 และป้อนสัญญาณเสียง Colored Noise แล้วลดระดับความแรงของเครื่องส่ง 2 และรับฟังคุณภาพของเสียงผ่านเครื่องรับวิทยุที่ผู้ประชุมคัดเลือก จนสามารถยอมรับการฟัง (รบกวน) ร่วมกันได้ และทำการบันทึกค่าเกณฑ์คุณภาพสัญญาณเสียง SINAD จากเครื่อง Spectrum Analyzer ที่ตั้งค่าไว้ จนทำให้ที่ประชุมได้ค่าเฉลี่ยของSINAD ร่วมกันที่ 35.206 dB ซึ่งจะได้นำค่าดังกล่าวเป็นเกณฑ์ที่ยอมรับร่วมกัน ไปใช้ในการทดสอบในภาคสนามจริง ต่อไป
“การทดสอบในวันนี้ ต้องการให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและยอมรับกันอย่างโปร่งใสที่สุด ซึ่งเป็นนโยบายที่ผมต้องการให้เกิดขึ้นในการออกแผนฯ หรือประกาศ ใดๆ ซึ่งค่าเกณฑ์ที่ยอมรับในวันนี้ จะได้ใช้เป็นมาตรฐานในการทดสอบและพิสูจน์ทราบการรบกวนระหว่างสถานีที่ได้รับอนุญาตอยู่เดิมและที่จะขอรับใบอนุญาตใหม่ในพื้นที่การให้บริการเดียวกันต่อไป เพื่อที่สำนักงาน กสทช. จะสามารถจัดทำแผนความถี่วิทยุได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป อย่างไรก็ตามจำนวนคลื่นความถี่ที่อาจจะได้เพิ่มขึ้นเท่าใดนั้น ก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่ง กสทช. คงไม่สามารถทำอะไรที่ขัดกับข้อกฎหมายได้ และที่สำคัญคลื่นความถี่วิทยุที่ปรากฏในแผนฯ นั้น ไม่ใช่เป็นของ กสทช. หรือ ของผู้ใดแม้ผู้นั้นจะเคยได้รับให้ทดลองออกอากาศมาก่อน เพราะคลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติ ที่ กสทช. มีหน้าที่เพียงบริหารและจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนเท่านั้น โดยที่หลักเกณฑ์การอนุญาตนั้นจะได้ออกประกาศต่อไป”
พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ ฯ กล่าว
สร้างโดย - ปฐมพงศ์ ศรีแสงจันทร์ (8/2/2567 13:40:50)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 71