กสทช. ชี้ รัฐบาลและภาคประชาสังคมควรช่วยผลักดันเพื่อให้สำนักข่าวที่น่าเชื่อถือมีอำนาจต่อรองกับแพลตฟอร์มดิจิทัลได้มากขึ้น
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เสนอให้รัฐบาลและภาคประชาสังคมร่วมมือกันในการเจรจาให้สำนักข่าวที่มีคุณภาพของไทยสามารถปรากฏอย่างโดดเด่นบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและได้รับการอ้างถึงอย่างเหมาะสม
ในยุคโซเชียลมีเดีย ด้วยระบบการทำธุรกิจของแพลตฟอร์มที่ใช้อัลกอริธึมและให้ความสำคัญกับยอดคลิกและการมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบมากกว่าคุณภาพของข่าวและความถูกต้อง ครบถ้วนของข้อมูล จึงมีข่าวลวงและเนื้อหาที่ล่อให้คลิกมากมาย อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสที่ผู้บริโภคนิยมรับข้อมูลข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มมากขึ้น สำนักข่าวต่างๆ ในสื่อดั้งเดิมจึงต้องย้ายฐานเข้าสู่ออนไลน์และอาศัยพื้นที่บนแพลตฟอร์มยอดนิยมระดับโลกอย่าง ยูทูป หรือ เฟซบุ๊ก และต้องไปอยู่ภายใต้กลไกการแพร่กระจายเนื้อหาของอัลกอริธึม
“สิ่งที่แตกต่างจากในยุโรปหรือประเทศอื่นๆ ในเอเชีย คือคนไทยนิยมรับข่าวสารจากโซเชียลมีเดียเป็นหลักและไม่ค่อยมีการอ้างอิงหรือให้เครดิตกับแหล่งที่มาหรือสำนักข่าวที่ผลิตข่าว โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มระดับโลกที่มีอำนาจต่อรองมากๆ “ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าวระหว่างการเสวนาในงานการประชุม Global News Forum ซึ่งเป็นการประชุมระดมความคิดเห็นขับเคลื่อนทิศทางการทำหน้าที่สื่อด้านข่าวในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งร่วมจัดโดยสหภาพวิทยุโทรทัศน์แห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ABU) และไทยพีบีเอส ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา
ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าวว่า สำนักข่าวควรทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคประชาสังคมเพื่อเรียกร้องให้สื่อที่น่าเชื่อถือสามารถจะปรากฏอย่างโดดเด่นมากขึ้น โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มดิจิทัล แอปพลิเคชั่นในอุปกรณ์เคลื่อนที่ และในทีวีที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ (connected TV)
ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าวว่า ในยุโรปและแคนาดา หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐ และผู้มีบทบาททางการเมืองและสังคมได้ช่วยกันผลักดันเพื่อให้บนยูทูป มีการระบุอย่างชัดเจนถึงแบรนด์ของสื่อที่ให้บริการเพื่อสาธารณะและน่าเชื่อถือ ในขณะเดียวกันก็กำลังมีการเจรจากับซัมซุงให้ปรากฏไอคอนของสื่อสาธารณะอย่างเด่นชัดบนหน้าจอทีวีที่เป็นแบบต่ออินเทอร์เน็ตได้ นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะออกกฎให้มีการลงแอปของผู้ให้บริการช่องทีวีสาธารณะที่น่าเชื่อถือฝังไว้ในโปรแกรมของทีวีเครื่องใหม่ให้ผู้ซื้อพร้อมใช้งานได้เลยอีกด้วย
ดังนั้น ประเทศไทยควรจะมีมาตรการในแนวทางเดียวกับที่กล่าวมาเพื่อสร้างเสริมความเชื่อถือและเชื่อมั่นในระบบนิเวศสื่อด้านข่าวสาร ซึ่ง กสทช. เองก็กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำระบบโซเชียลเครดิต (social credit) ที่ผู้รับใบอนุญาตช่องรายการจาก กสทช. จะได้รับการประเมินถึงคุณภาพของเนื้อหา โดยจะเริ่มจากรายการข่าว เพื่อให้มีการรับรองด้านความน่าเชื่อถือ หากมีการประเมินและรับรองเช่นนี้แล้วก็สามารถจะใช้เป็นฐานในการเจรจาต่อรองเพื่อสร้างการปรากฏที่โดดเด่นและการให้เครดิตที่เหมาะสมบนแพลตฟอร์มดิจิทัลได้ในอนาคต ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าว
สร้างโดย - ปฐมพงศ์ ศรีแสงจันทร์ (1/8/2567 13:56:25)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 48