NBTC Policy Watch ตกเป็นจำเลยสังคมอีกครั้ง เหตุใช้ฐานข้อมูลมั่วในการตรวจสอบค่าบริการ3จี

กลุ่ม NBTC Policy Watch ตกเป็นจำเลยเสียเอง ถูกอัดใช้งบไม่คุ้มค่า เพราะใช้ข้อมูลมั่ว งานวิจัยที่ไปกล่าวหาอัตรามือถือ 3 จี ว่าไม่ถูกจริง ถูกยำเละว่าไร้มาตรฐานไม่เป็นกลาง ขาดจรรยาบรรณ จนต้องออกมาแก้ตัวอุตตลุด
    จากกรณีที่ นายพรเทพ เบญญาอภิกุล  อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำงานวิจัย ในหัวข้อ “ราคาค่าโทร 3G หนึ่งปีเปลี่ยนไปอย่างไร?” ภายใต้โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ NBTC Policy Watch  โดยใช้ฐานข้อมูลในการเปรียบเทียบอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือที่คลาดเคลื่อน ส่งผลให้ กสทช.ได้รับความเสียหาย จนต้องออกมาเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องต่อสื่อมวลชนไปแล้วนั้น  ล่าสุดยังปรากฏว่า นายพรเทพ ยังคงปฏิเสธความรับผิดชอบโดยโพสต์ข้อความลงในเฟสบุคอ้างว่าผลวิจัยดังกล่าวของตนมีความถูกต้องแล้ว
    ต่อเรื่องนี้ นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ ที่ปรึกษา ประจำ กสทช. ยืนยันว่า “คงต้องถาม NBTC Policy Watch กลับไปอีกครั้งว่าใช้ฐานข้อมูลเทียบกับอะไร เพราะการเปรียบเทียบอัตราค่าบริการ 3 จี จะลดลงอย่างน้อย 15% หรือไม่นั้น ต้องเปรียบเทียบจากอัตราค่าบริการเฉลี่ยทั้งหมด ณ วันที่ กสทช. ออกใบอนุญาต 3 จี  คือ วันที่ 7 ธันวาคม 2555 เพราะนั่นคือเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตที่ กสทช. ออกให้กับค่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย ที่ได้รับใบอนุญาต และจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตไม่ได้กำหนดให้ไปเปรียบเทียบอัตราค่าเฉลี่ย ณ วันที่ค่ายมือถือเปิดให้บริการ เพราะจะเกิดความไม่แน่นอน และค่ายมือถือแต่ละค่ายก็เปิดให้บริการ 3 จี ไม่พร้อมกัน  ฉะนั้นการที่นายพรเทพ แห่ง NBTC Policy Watch  ไปเอาข้อมูลอัตราค่าบริการ (ที่ไม่ครบถ้วน) ในเดือนพฤษภาคม 2556 มาเปรียบเทียบกับอัตราค่าบริการในเดือนมิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นวันที่นายพรเทพสุ่มตรวจแล้วไปตำหนิ กสทช.ว่าอัตราค่าบริการ 3 จี ลดไม่ถึง 15% จึงเป็นการสรุปที่เกิดจากการใช้ฐานข้อมูลเปรียบเทียบที่ไม่ถูกต้อง เพราะเดือนพฤษภาคม 2556 ไม่ใช่วันที่ กสทช. ออกใบอนุญาต 3 จี แต่เป็นเดือนที่ค่ายมือถือรายหนึ่งเปิดให้บริการ ซึ่งถ้าเป็นตามเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนด ณ ช่วงนั้น อัตราค่าบริการเฉลี่ยของค่ายมือถือจะต้องลด 15% เมื่อเทียบกับอัตราค่าบริการเฉลี่ย ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2555 ไปแล้ว ฉะนั้นเมื่อ นายพรเทพ ไปเอาข้อมูลในวันที่ค่ายมือถือเปิดให้บริการมาเปรียบเทียบจึงปรากฏผลว่าอัตราค่าบริการ 3 จี ลดไม่ถึง 15%  เพราะเอาไปเปรียบเทียบกับอัตราที่ลดไปก่อนแล้ว แต่ในกรณีที่ นายพรเทพ บอกมีบางรายที่ลด 15% จริง ก็แสดงว่าค่ายนั้นอาจจะลดลงไปมากกว่า 15%”
   ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า แท้จริงแล้ว นายพรเทพทราบเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตและทราบฐานข้อมูลในการคิดค่าบริการของ กสทช.เป็นอย่างดีเพราะได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ซึ่งให้ข้อมูลตรงกันว่า นายพรเทพเข้ามาพบและซักถามข้อมูลอยู่นาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้อธิบายวิธีการคิดให้เข้าใจแล้ว แต่เมื่อไปทำการวิจัยทั้งๆที่รู้ว่าความจริงคืออะไร นายพรเทพกลับไปใช้ฐานข้อมูลที่ไม่ใช่กติกาที่ กสทช. กำหนด และนำไปเปรียบเทียบเพื่อต้องการโจมตีว่าอัตราค่าบริการ 3 จี ลดไม่ถึง 15%
     แหล่งข่าวรายเดิม ยันยันว่า นายพรเทพ เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีผลประโยชน์ขัดกันในกรณีนี้และน่าจะไม่มีความเป็นกลางในทางวิชาการเพราะเป็นคู่กรณีกับค่ายมือถือที่นายพรเทพร้องเรียนต่อสำนักงาน กสทช. เพื่อให้ตนได้ประโยชน์ โดยกล่าวหาว่าคิดค่าบริการแพงโดยไม่ลดราคา 15% และในงานวิจัยของนายพรเทพก็ใช้ฐานข้อมูลที่ไม่ตรงกับกติกาของ กสทช. กล่าวหาว่าค่ายมือถือที่เป็นคู่กรณีของนายพรเทพกำหนดอัตราค่าบริการแพงโดยลดไม่ถึง 15%
    ข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่างานวิจัยชิ้นนี้ของนายพรเทพไม่คุ้มกับงบประมาณของรัฐที่เสียไป เพราะผลการวิจัยไม่น่าเชื่อถือ มีอคติ ใช้ข้อมูลมั่วโดยใช้ฐานข้อมูลตามความเชื่อของตนเอง เมื่อตั้งต้นในการใช้ฐานข้อมูลที่ผิด ก็ส่งผลทำให้ผลการวิจัยของนายพรเทพ มีความผิดพลาด และสร้างความเสียหายต่อ กสทช. ทั้งๆที่ผู้ที่ผิดพลาดเองก็คือ นายพรเทพ
    นอกจากนี้งานวิจัยยังขาดความเป็นกลาง เพราะนายพรเทพ ซึ่งเป็นผู้ทำวิจัย และยังเป็นคู่ขัดแย้งกับค่ายมือถือเสียเอง ซึ่งเป็นค่ายที่นายพรเทพนำข้อมูลเพียงบางส่วนและไม่ตรงไปตรงมา มาใช้แล้วสรุปเป็นผลลบต่อค่ายมือถือดังกล่าว ทำให้เกิดการเข้าใจ    
    "ผู้ที่สมควรถูกตำหนิและควรออกมาแสดงความรับผิดชอบคือนายพรเทพและกลุ่ม NBTC Policy Watch โดยควรยอมรับความผิดพลาด และไม่ควรออกมาเถียงข้างๆคูๆเพื่อแก้ตัว เพราะหลักฐานปรากฎชัด เถียงอย่างไรก็ฟังไม่ขึ้น และถ้ายังทำตัวเป็นเด็กดื้อก็จะยิ่งเสื่อมเสียยิ่งกว่านี้"
    แหล่งข่าว ยืนยัน ว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่กลุ่ม NBTC Policy Watch ผิดพลาด เพราะเมื่อไม่นานมานี้ก็ไปกล่าวหาสำนักงานกสทช. เรื่องใช้งบประชาสัมพันธ์สูง โดยกล่าวหาว่ามีการใช้งบประชาสัมพันธ์กับหนังสือพิมพ์ค่ายหนึ่งถึงกว่า 10 ล้านบาท จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิ กสทช.อย่างมาก ซึ่งไปกระทบต่อหนังสือพิมพ์ค่ายนั้นด้วยทั้งๆที่ไม่เป็นความจริง จนหนังสือพิมพ์ค่ายนั้นทนไม่ได้ออกมาแฉข้อมูลถล่มกลุ่ม NBTC Policy Watch อย่างต่อเนื่อง จนกลุ่มนี้ต้องออกมาขอขมายอมรับผิดอย่างไม่น่าให้อภัย
    อุทธาหรณ์เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าถ้าผู้ใดหรือกลุ่มใดอยากจะเป็นผู้ตรวจสอบและตำหนิหน่วยงานต่างๆ ผู้ที่สมัครใจเล่นบทบาทของการเป็นผู้ตรวจสอบและตำหนิ ต้องรู้จริง เป็นกลาง ไม่มีอคติ และที่สำคัญต้องมีจรรยาบรรณ มิฉะนั้น ผู้ที่ชอบตรวจสอบและวิจารณ์คนอื่นก็อาจจะกลายเป็นผู้ถูกตรวจสอบและถูกตำหนิเสียเอง ทำให้ที่หวังจะแจ้งเกิดสร้างผลงานก็จะกลายเป็นแจ้งดับและเสื่อมเสียเอง เหมือนกับกรณีของกลุ่ม NBTC Policy Watch ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้
    อนึ่ง จากการตรวจสอบค่าบริการมือถือของไทยได้รับการยืนยันด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือของไทยนั้นถูกที่สุดในอาเซียนในหลายรายการ โดยเปรียบเทียบข้อมูลตั้งแต่ ปี 2556 เป็นผลมาจากที่ กสทช. เปิดประมูล 3 จี สำเร็จ และมีการกำกับดูแลเรื่องอัตราค่าบริการ และค่ายมือถือต่างทยอยเปิดให้บริการ 3 จี จึงเป็นการสวนกับกระแสที่มีบางกลุ่มโจมตีโดยให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องว่าอัตราค่าบริการมือถือของไทยแพงกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียน แต่จากการศึกษาพบว่าอัตราค่าบริการมือถือของไทยโดยเฉลี่ยจากการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในยุค กสทช.ถูกที่สุดในอาเซียน

................................................................................................................................................................

Download

สร้างโดย  -   (14/3/2559 12:17:37)

Download

Page views: 85