กสทช.ยังไม่รับทราบรายงานประจำปีของ กตป.

• ติงข้อมูลไม่ครบถ้วน คลาดเคลื่อนและไม่เปิดโอกาสให้ กสทช.ชี้แจง
• ตีกลับให้สำนักงานฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเร่งชี้แจงทำความเข้าใจ

     จากกรณีที่คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) หรือที่เคยถูกเรียกว่า “ซุปเปอร์บอร์ด” ได้จัดทำรายงานการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประจำปี 2556 ตามบทบัญญัติในมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 โดยสำนักงาน กสทช.ได้เสนอรายงานดังกล่าวต่อ กสทช. เพื่อทราบในการประชุมครั้งที่ 4/2557 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557 ซึ่งปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆไปแล้วนั้น

      O เบรกรายงานฯ”กตป.” ติงใช้ข้อมูลคลาดเคลื่อน-ไม่รอบด้าน
      พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และในฐานะประธาน กทค. กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ได้เห็นรายงานฉบับดังกล่าวแล้ว น้อมรับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของ กตป. เพื่อนำไปปรับปรุงการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเห็นพ้องด้วยในหลักการของกฎหมายว่า เมื่อ กสทช. ได้รับทราบรายงานฯ แล้วให้นำเสนอต่อรัฐสภา พร้อมทั้งเปิดเผยรายงานฯ ดังกล่าวต่อไป 
     อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่า เนื่องจากรายงานฯ ดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งและอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กร กสทช. ฉะนั้น กระบวนการในการจัดทำรายงานฯ และการวิเคราะห์ข้อมูล ข้อเท็จจริง จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานตามหลักวิชาการและจะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ ที่ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน รวมถึงต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียประกอบด้วย แต่ปรากฏว่าข้อมูลที่ปรากฎในรายงานฯมีความคลาดเคลื่อน ไม่ครบถ้วนและไม่ปรากฏว่ามีการเปิดโอกาสให้ กสทช.ไปชี้แจงแต่อย่างใด
     “ในชั้นนี้จึงยังไม่อาจรับทราบรายงานฯ ของ กตป. แต่เพื่อป้องกันผลกระทบและความเสียหายอันอาจจะเกิดจากการรับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ไม่ครบถ้วน รวมทั้งเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดจากรายงานฯ นี้ จึงมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตรวจสอบและนำประเด็นต่างๆ ตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของ กตป. ไปศึกษาโดยละเอียด หากปรากฏว่าข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อสังเกตรวมถึงข้อเสนอแนะในส่วนใดไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วนหรือคลาดเคลื่อน ก็ให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อประกอบแนบท้าย รายงานฯ ของ กตป. ก่อนนำเสนอต่อรัฐสภา และเปิดเผยรายงานฯ นี้พร้อมกับคำชี้แจงเพิ่มเติมดังกล่าวให้ประชาชนทราบต่อไป”


      O เผยกระบวนการจัดทำรายงานฯไม่ปรากฏวิธีการและมาตรฐานทางวิชาการรองรับ 
      รองศาสตราจารย์ ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อได้พิจารณาในรายละเอียดของรายงานฯ ดังกล่าวแล้วพบว่า กระบวนการจัดทำรายงานฯ ไม่ปรากฏวิธีการและมาตรฐานทางวิชาการรองรับ อีกทั้งข้อมูลและข้อเท็จจริงที่นำมาใช้ในการพิจารณายังมีความไม่ชัดเจน ไม่ปรากฏที่มาของแหล่งข้อเท็จจริงและข้อมูล และที่สำคัญที่สุดยังไม่ได้เปิดโอกาสให้ กสทช. ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียได้ร่วมให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำรายงานฯ แต่อย่างใด ทำให้การวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ ของ กตป. จนนำไปสู่การตั้งข้อสังเกต ตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่ปรากฏในรายงานฯ ในหลายประเด็นมีความคลาดเคลื่อนและมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน และไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่สอดคล้องกับกฎหมายอันเนื่องมาจากการเข้าใจหลักการของกฎหมายและด้านเทคนิคที่คลาดเคลื่อน จึงอาจทำให้รัฐสภา ตลอดจนประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. 

      O ยกกรณีดาวเทียม กตป.ขาดความเข้าใจอำนาจหน้าที่ระหว่าง กสทช. กับ กระทรวงไอซีที
      ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. ด้านกฎหมาย เปิดเผยว่า การประเมินผลและการจัดทำรายงานฯ ของ กตป.มีความคลาดเคลื่อนและมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน และไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่สอดคล้องกับกฎหมายในประเด็น กล่าวคือ กรณี กตป. เสนอให้ กทค. ต้องเร่งหาข้อยุติการตีความกฎหมายเกี่ยวกับกิจการดาวเทียมสื่อสาร รวมทั้งความไม่ชัดเจนของกฎหมายในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวง ICT) และ กสทช. นั้น ข้อเสนอในประเด็นนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง
     เนื่องจากบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐในเรื่องเกี่ยวกับกิจการดาวเทียมสื่อสาร โดยเฉพาะประเด็นอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับวงโคจรดาวเทียมนั้น หากเมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2543 (ฉบับเดิม) ในมาตรา 63 (10) กำหนดให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ร่วมมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการในฐานะหน่วยงานของรัฐด้านอำนวยการของรัฐบาลในกิจการสื่อสารระหว่างประเทศกับองค์การระหว่างประเทศ รัฐบาลและหน่วยงานต่างประเทศด้านการบริหารคลื่นความถี่ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แต่ต่อมาได้มีการยกเลิก พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2543 และมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรร คลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 แทน ซึ่งไม่มีการระบุอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ไว้เช่นเดียวกับ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2543 ตามมาตรา 63 (10) และได้มีการโอนบทบาทหน้าที่ดังกล่าวไปยัง กระทรวง ICT ในฐานะส่วนราชการ ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ในมาตรา 75 แทน ดังนั้น กล่าวได้ว่าบทบาทหน้าที่ในประเด็นเกี่ยวกับวงโคจรดาวเทียมสื่อสาร จึงมีความชัดเจนและเป็นที่ยุติแล้วว่า เป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงของกระทรวง ICT ซึ่งเป็นส่วนราชการและฝ่ายอำนวยการ (Administration) ของประเทศไทยในองค์กร ITU โดย กสทช. มีเพียงอำนาจหน้าที่เฉพาะในการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ในประเทศและการประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารเท่านั้น 
      นอกจากนี้ ในกิจการดาวเทียมสื่อสารเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งทุกๆ ประเทศในฐานะประเทศสมาชิก (Member State) ขององค์กร ITU ที่ให้การรับรองร่วมกัน ซึ่ง กสทช. ไม่ได้ทำหน้าที่เป็น Administration ที่มีสิทธิยื่นเอกสารการจองตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมสื่อสารในนามของประเทศไทย ดังนั้น การดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการวงโคจรดาวเทียมสื่อสาร จะต้องเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันหรือข้อบังคับที่ทุกๆ ประเทศสมาชิกเห็นชอบ 
ส่วนประเด็นการใช้คลื่นความถี่ในอวกาศโดยวิธีประมูลตามกฎหมายไทยนั้น ในทางปฏิบัติ กสทช. ไม่มีอำนาจหน้าที่และกฎหมายไม่ครอบคลุมถึง เนื่องจากอยู่นอกเหนือราชอาณาจักรไทย และหาก กสทช. โดย กทค. ดำเนินการจัดประมูลวงโคจรในอวกาศหรือจัดประมูลการใช้คลื่นความถี่ในอวกาศทั้งๆ ที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ก็จะเป็นการกระทำที่เกินอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้อำนาจ ทั้งอาจขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายประเทศชาติ 
      “ ปัจจุบันปัญหาเกี่ยวกับกิจการดาวเทียมสื่อสารจึงมิได้อยู่ที่ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการตีความกฎหมายและบทบาทอำนาจหน้าที่ระหว่างหน่วยงานกระทรวง ICT กับ กสทช. เนื่องจากได้ข้อยุติในเรื่องนี้แล้ว อย่างไรก็ตามประเด็นที่เป็นปัญหา คือ กระบวนการในการได้มาซึ่งสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมภายใต้อำนาจหน้าที่ของกระทรวง ICT จะสามารถกำกับดูแลอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญเพื่อให้มีการกำกับดูแลดาวเทียมสื่อสารแบบครบวงจร โดยการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาวอาจจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการดาวเทียมสื่อสารเป็นการเฉพาะ แต่ในการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเห็นควรให้สำนักงาน กสทช. นำเรื่องนี้ไปหารือในคณะอนุกรรมการประสานงานเรื่องดาวเทียม ซึ่งมีผู้แทนจากทั้งกระทรวง ICT และสำนักงาน กสทช. ร่วมอยู่ด้วยว่าควรจะมีการขับเคลื่อนอย่างไร จึงจะทำให้การกำกับดูแลกิจการดาวเทียมสื่อสารเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน” ดร.สุทธิพล ให้ความเห็น

      O แย้งรายงาน กตป. กรณีความเห็นเกี่ยวกับตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาในกิจการโทรคมนาคมตาม พ.ร.บ.องค์กรฯ มาตรา 82 คลาดเคลื่อนและไม่มีผลกระทบต่อการออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสาร
      เนื่องจากในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาในกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา 82 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 นั้น กสทช. ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวเป็นการเฉพาะ โดยมีอำนาจหน้าที่และกระบวนการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. ได้ประกาศกำหนด นอกจากนี้ ในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว หากผลการตรวจสอบปรากฏว่า การทำสัญญาดังกล่าวฉบับใดไม่ชอบด้วยกฎหมาย กสทช. ก็จะต้องมีการออกคำสั่งและแจ้งผลการวินิจฉัยให้คู่สัญญาทราบและปฏิบัติตามคำวินิจฉัย ซึ่งมีผลเป็นการกระทบสิทธิของคู่สัญญา ฉะนั้น ในกระบวนการตรวจสอบ จึงต้องเปิดโอกาสให้คู่กรณีมีโอกาสได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน มิฉะนั้นจะทำให้กระบวนการตรวจสอบกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
     ที่ผ่านมาส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้ให้อนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาดังกล่าวได้จัดส่งสัญญาในกิจการด้านโทรคมนาคมมาให้ กสทช. แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 37 ฉบับ และสามารถจัดแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มที่จัดส่งเอกสารหลักฐานครบถ้วน ซึ่งในส่วนนี้ คณะอนุกรรมการที่ กสทช. แต่งตั้ง สามารถพิจารณาและวินิจฉัยตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและนำเสนอ กสทช. พิจารณาและวินิจฉัยได้ในทันที ซึ่งได้มีการทยอยตรวจสอบไปแล้วอย่างต่อเนื่อง ส่วนอีกกลุ่มได้แก่ กลุ่มที่จัดส่งเอกสารไม่ครบถ้วน โดยในส่วนนี้ คณะอนุกรรมการดังกล่าวยังไม่อาจดำเนินการได้ แต่ได้ขอให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการติดตามและเร่งรัดการจัดส่งเอกสารหลักฐานมาให้ครบถ้วนและเพียงพอต่อการพิจารณาตรวจสอบต่อไป โดยในส่วนของการตรวจสอบสัญญาสัมปทานของบริษัท ไทยคมฯ นั้น อยู่ในกลุ่มที่จัดส่งเอกสารไม่ครบถ้วน ซึ่งต่อมาสำนักงาน กสทช. ได้ติดตามและเร่งรัดให้กระทรวง ICT และบริษัทไทยคมฯ จัดส่งเอกสารเพิ่มเติมมาประกอบการพิจารณาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 
     ทั้งนี้ ในกระบวนการตรวจสอบสัญญาฯ ดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลในกิจการดาวเทียมสื่อสารแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแก่บริษัท ไทยคมฯ เนื่องจากในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว สำนักงาน กสทช.ได้มีการตรวจสอบสัญญาฯ แล้วว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจการอนุญาตของ กสทช. โดย กทค. พร้อมทั้งได้รับการชี้แจงและยืนยันจากทางบริษัท ไทยคมฯ และประธานอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์กิจการบริการดาวเทียมสื่อสารว่าขอบเขตการขออนุญาต อยู่นอกเหนือสัญญาสัมปทานและมีขอบเขตพื้นที่ให้บริการที่ต่างกัน จึงไม่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานที่จะขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขสัญญาดังกล่าวได้ ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือของกระทรวง ICT ที่ ทก 0204/658 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ยืนยันว่าการดำเนินโครงการดาวเทียมเพิ่มเติมนอกเหนือการอนุญาตภายใต้สัญญาสัมปทาน ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกระทรวง ICT แต่จะต้องได้รับอนุญาตและให้บริการภายใต้ใบอนุญาตของ กสทช. เท่านั้น ฉะนั้น เมื่อการขอใบอนุญาตใหม่ไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาสัมปทานและไม่อาจอนุญาตในรูปแบบของสัญญาสัมปทานได้อีกต่อไปเพราะต้องมาขออนุญาตจาก กสทช. การที่ กทค. ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการดังกล่าว จึงไม่เกี่ยวข้องและไม่มีผลกระทบกับขอบเขตของสัญญาสัมปทานแต่อย่างใด


      O งงข้อเสนอแนะของ กตป.ที่ให้ กสทช. เร่งรัดการแก้ไขปรับปรุงประกาศหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับแผนเลขหมายโทรคมนาคมนั้น ใช้ข้อมูลเก่าไม่เป็นปัจจุบัน 
      เนื่องจาก ในเรื่องดังกล่าว กสทช. ได้มีการแก้ไขปรับปรุงแผนเลขหมายโทรคมนาคมดังกล่าวแล้ว โดยได้มีการเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 และผ่านกระบวนการพิจารณาทั้งในชั้นของคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคม พร้อมทั้งได้จัดประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ผ่านขั้นตอนและกระบวนการตามที่กฎหมายกำหนดต่างๆ จนได้ข้อยุติ ซึ่งขณะที่ กตป. จัดทำรายงานฯ อยู่ระหว่างการนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลใช้บังคับ แต่รายงานฯ ดังกล่าว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในส่วนนี้แต่อย่างใด

      O ชี้รายงานฯ กตป. ที่เสนอให้ปรับปรุงมาตรการหรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดหรือสร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันนั้น เป็นเพราะ กตป.ใช้ข้อมูลเก่ามาวิเคราะห์
     เนื่องจากปัจจุบันมีหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดหรือสร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันที่มีผลใช้บังคับอยู่แล้วในหลายฉบับ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ประกาศ กทช. เรื่อง นิยามของตลาด และขอบเขตตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2551 และประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2552 
      แต่ทั้งนี้ เพื่อให้การกำกับดูแลการแข่งขันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนมีความโปร่งใส และสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลที่เป็นสากล กสทช. จึงได้ดำเนินการให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 โดยมีการนำเข้าสู่การประชุมของคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคม ตลอดจนจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปตามกฎหมาย ทั้งในระดับกลุ่มย่อยและจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และขณะนี้อยู่ในระหว่างการนำความคิดเห็นมาปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์ก่อนนำเสนอที่ประชุม กสทช. เพื่อให้ความเห็นชอบและนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับ แต่ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ กลับไม่ปรากฏในรายงานฯ ของ กตป. แต่อย่างใด

      O ตั้งข้อสงสัยกรณีรายงาน กตป.ไปแนะให้สร้างความชัดเจนเรื่องความชอบด้วยกฎหมายเรื่องประกาศห้ามซิมดับ โดยให้ กสทช. โยนกลับไปถามกฤษฎีกา ทั้งๆที่ได้ข้อยุติแล้ว
     เนื่องจากในขั้นตอนของการพิจารณาข้อกฎหมาย และฐานอำนาจในการออกประกาศเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ พ.ศ. 2556 (ประกาศห้ามซิมดับ) ถือว่าเป็นที่ยุติทั้งสำนักงาน กสทช. คณะทำงานชุดต่างๆ รวมถึง กทค. และกสทช. ที่เห็นตรงกันในเหตุผลและความจำเป็นในการออกประกาศฯ 
     ตลอดจนเห็นตรงกันว่า กสทช. มีอำนาจตามกฎหมายในการออกประกาศฯ ดังกล่าว ดังปรากฏในรายงานการประชุมของ กทค. และ กสทช. รวมถึงเอกสารเผยแผร่ทางเครือข่ายสารสนเทศของสำนักงาน กสทช. และขณะนี้ประกาศดังกล่าวก็ยังมีผลใช้บังคับ แม้จะมีการนำคดีไปฟ้องให้เพิกถอนประกาศฯ และยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้บังคับใช้ประกาศระหว่างที่ศาลปกครองพิจารณาคดี แต่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว โดยวินิจฉัยสรุปได้ว่า “...ประกาศดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (กสทช.) ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 โดยกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อมิให้การได้รับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ผู้ใช้บริการได้รับตามปกติต้องสะดุดหยุดลงอันมีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด เพื่อบุคคลใด เป็นการเฉพาะ...” 
      “....ในชั้นนี้จึงเห็นว่าการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (กสทช.) เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในฐานะองค์กรกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อกำหนดหน้าที่ให้ผู้ให้สัมปทานและผู้รับสัมปทานตามการอนุญาต สัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ปฏิบัติเพิ่มเติมอันเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะ กรณียังไม่พอฟังว่าการออกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ซึ่งมีลักษณะเป็นกฎนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย....” 
      ในชั้นนี้ จึงถือว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นที่ยุติแล้ว ดังนั้นจึงขอตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดข้อสรุปความเห็นของ กตป. ดังกล่าว จึงนำข้อเท็จจริงเพียงด้านเดียวมาทำเป็นความเห็นของ กตป. โดยมิได้มีการนำข้อเท็จจริงที่ได้มีการพิจารณาข้อกฎหมายและได้ข้อยุติดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วยแต่อย่างใด

      O โต้ข้อสังเกตของ กตป. ที่กล่าวหาว่า กสทช.จัดประมูล 3 จี ทำให้รัฐเสียหายจากการได้เงินค่าประมูลเข้ารัฐน้อยกว่าที่ควรจะเป็นนั้น เป็นข้อสังเกตที่หยิบยกเฉพาะข้อมูลลบมานำเสนอและมีข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน 
      พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังที่มีการจัดประมูลแล้ว มีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยมีการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นดังกล่าว รวมถึงคณะกรรมาธิการฯ ชุดต่างๆ ได้เชิญ กทค. ไปชี้แจงในการจัดประมูลดังกล่าว ซึ่ง กทค. ได้ชี้แจงยืนยันในประเด็นดังกล่าวไปแล้วว่า การกำหนดราคาตั้งต้นทำตามหลักวิชาการที่ได้มาจากการศึกษาอย่างรอบคอบ โดยได้พิจารณากำหนดเพื่อความสมดุลระหว่างประโยชน์สูงสุดของรัฐ ประชาชน และผู้ประกอบกิจการโดยคำนึงถึงประโยชน์ในการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าการป้องกันการผูกขาดการส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม การให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนภาระของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ผลของการประมูลมิใช่เป็นเรื่องผิดปกติ และไม่ได้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่าที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด 
      นอกจากนี้ หลังจากนั้น ทาง ITU ได้มีการศึกษาและรายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz โดยได้จัดส่งคณะผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้าน Radio Communication และด้าน Telecommunication Development ที่มีความรู้และมีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับในการจัดสรรคลื่นความถี่มาทำการศึกษา ประเมิน และวิเคราะห์รูปแบบการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ของประเทศไทย และผลการศึกษาของ ITU มีการเผยแพร่ทั่วโลกไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ว่า ผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ของ กทค. มีความสอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากลและบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการทรัพยากรคลื่นความถี่วิทยุของ กสทช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องราคาที่ได้จากการประมูล คลื่นความถี่ ซึ่งมีข้อมูลว่าเมื่อเทียบกับราคาที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ ย่าน 2.1 GHz ตามมาตรฐานระหว่างประเทศพบว่า เป็นราคาที่เหมาะสมหรือค่อนข้างจะเป็นราคาที่สูงกว่าในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งมีการศึกษาวิเคราะห์จากสถาบันหลายแห่ง รวมถึงภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเห็นตรงกันว่าผลจากการที่ กสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ทำให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ก็ปรากฏชัดว่าผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยและทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์อย่างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับข้อวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการบางกลุ่ม แต่ในรายงานฯ ของ กตป. ก็มิได้ระบุข้อเท็จจริงในส่วนนี้เลย จึงทำให้ถูกมองว่า กตป. นำข้อมูลเฉพาะในส่วนลบมานำเสนอ

      O สวนกลับ กตป. เข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อน และไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ดี กรณีเสนอให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจเบ็ดเสร็จและกล่าวหาว่ากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมของ กสทช. ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย 
      ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช.ด้านกฎหมาย ให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อประเด็นนี้ว่า เนื่องจากคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ที่จัดตั้งตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มีหน้าที่เพียงพิจารณาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน แต่มิได้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนและข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมแต่อย่างใด นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ. ดังกล่าวก็ได้กำหนดให้ต้องมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีคณะอนุกรรมการชุดนี้ตลอดไป มิใช่เป็นคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ส่วนการแก้ไขปัญหาหรือเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนฯ ต่อ กสทช. นั้น มาตรา 57 (4) ได้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. จึงต้องระวังมิให้การทำงานของคณะอนุกรรมการฯ และสำนักงาน กสทช.ทับซ้อนกัน ดังนั้น ข้อเสนอแนะของ กตป. ในประเด็นนี้ จึงไม่น่าจะสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย นอกจากนี้หาก กตป.ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ละเอียดรอบคอบก็จะทราบว่า กสทช. โดย กทค. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยได้กำหนดให้ปี 2556 เป็น “ปีทองแห่งการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม” และเดินหน้าในการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมอย่างจริงจัง จนสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องวันหมดอายุของบัตรเติมเงินได้เป็นผลสำเร็จ มีการลงพื้นที่ไปตรวจสอบด้วยตนเอง จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ตลอดจนช่วยเหลือผู้บริโภคโดยการจัดโครงการ กทค. สัญจรทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมเป็นผลสำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค ฯลฯ แต่ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ กลับไม่ถูกหยิบยกในรายงานฯ ของ กตป. ทำให้มองว่า รายงานฯ ของ กตป. มีข้อมูลไม่ครบถ้วนและมุ่งเสนอเฉพาะข้อมูลลบเพียงด้านเดียว ซึ่งไม่เป็นปัจจุบัน
      “ทั้งนี้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกิจการโทรคมนาคมเป็นเรื่องที่ที่ประชุม กสทช. และ กทค. มีการพิจารณาและดำเนินการจนได้ข้อยุติไปแล้ว ซึ่งหาก กตป.ตรวจสอบให้ดี กำหนดประเด็นให้ชัดเจน และเปิดโอกาสให้ กสทช.ได้ชี้แจงอย่างเต็มที่ก็จะไม่เกิดความคลาดเคลื่อนเช่นนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือบางประเด็นที่ กตป.หยิบยกล้วนเป็นเรื่องที่กระทบต่อกลุ่มผลประโยชน์จนมีการโต้แย้งเป็นคดีความอยู่ในศาลปกครองที่ยังไม่เป็นที่ยุติ รวมถึงบางประเด็นเป็นเรื่องที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กสทช. และ กทค. ได้ทำการร้องเรียนและอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แม้กตป.จะมีเจตนาดีและอ้างว่าดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แต่การจัดทำรายงานฯก็ต้องมีมาตรฐานทางวิชาการและปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อ กสทช.และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ฝ่ายที่ไม่ประสงค์ดีใช้กตป.เป็นเครื่องมือเพื่อสกัดกั้นการทำงานของ กสทช. และพัฒนาการทางด้านโทรคมนาคมของชาติ ซึ่งขอยืนยันว่าการออกมาชี้แจงในครั้งนี้ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจและเป็นห่วง โดยไม่มีอคติใดๆทั้งสิ้นต่อ กตป. ทั้งนี้สาเหตุที่สำคัญเนื่องมาจากรายงานฯ ไม่ปรากฏชัดเจนว่า กตป. นำข้อมูลทุกด้านมาประเมินวิเคราะห์ที่นำไปสู่ข้อสรุปดังกล่าว ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชี้แจงเพื่อให้ประชาชนได้ทราบข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ที่ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อการปฏิบัติหน้าที่ และมิให้เกิดผลเสียหายต่อองค์กร กสทช.” ดร.สุทธิพลกล่าวทิ้งท้าย

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Download

  • กสทช-ยังไม่รับทราบรายงานฯ-กตป.docx

สร้างโดย  -   (14/3/2559 16:15:49)

Download

Page views: 1420