บอร์ดกระจายเสียง/กสทช. แถลงผลการประชุมวันที่ 14 ตุลาคม 2556
พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประธาน กสท.) กล่าวว่า วันนี้ (14 ตุลาคม 2556) การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีวาระสำคัญ ดังนี้
เรื่องที่ 1 ที่ประชุม กสท. มีมติเห็นชอบคำขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง จำนวน 80 ราย แบ่งเป็นกิจการบริการธุรกิจ 70 ราย กิจการบริการสาธารณะ 2 ราย และกิจการบริการชุมชน 8 ราย รวมทั้งสิ้น 2,924 ราย
เรื่องที่ 2 ที่ประชุม กสท. อนุมัติคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ประเภทโครงข่ายระดับชาติ จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท โกลบอล บรอดคาสติ้ง เน็ตเวิร์ค จำกัด บริษัท โพลี บรอดคาสติ้ง จำกัด และประเภทโครงข่ายระดับท้องถิ่น จำนวน 3 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บานเย็นเคเบิ้ลทีวี , บริษัท ซีทีเอช นครราชสีมา จำกัด ,ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ้านหมอ เคเบิล ทีวี นอกจากนี้ยังมีอนุมัติคำขอเพิ่มเติมช่องทางการให้บริการของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ประเภทโครงข่ายระดับชาติ อีก 2 ราย ได้แก่ บริษัท ไอพีเอ็ม แพลทฟอร์ม จำกัดและ บริษัท ซีทีเอช เคเบิล ทีวี จำกัด
เรื่องที่ 3 ที่ประชุม กสท. แจ้งเตือน บริษัท โพลี บรอดคาสติ้ง จำกัด(PSI) ตามที่ได้มีผู้ร้องเรียน ในกรณีการจัดหมวดหมู่และการจัดลำดับช่องรายการ ให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ พ.ศ. 2556 ที่ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตแสวงหาผลประโยชน์จากการจัดเรียงหมวดหมู่หรือการจัดลำดับบริการ เมื่อทาง บริษัท โพลี บรอดคาสติ้ง จำกัดได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์แล้ว จึงเห็นควรมีหนังสือแจ้งเตือนให้ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวโดยเคร่งครัด โดยให้ทางสำนักงานฯ ตรวจสอบและนำเสนอต่อกรรมการ กสท.ภายใน15วัน
เรื่องที่ 4 ที่ประชุม กสท.รับรองมาตรฐานสำหรับเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลแบบพกพา/เคลื่อนที่และประเภทติดรถยนต์ โดยให้เทียบเคียงกับมาตรฐานทางเทคนิคตาม ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคสำหรับเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล พ.ศ. 2556 ทั้ง 2 ฉบับ ทั้งนี้มีการยกเว้นมาตรฐานทางเทคนิคในบางหัวข้อ ได้แก่ ข้อกำหนดทางเทคนิค ด้านคุณลักษณะทางไฟฟ้าและความปลอดภัย รีโมทคอนโทรล ข้อกำหนดทางเทคนิคด้านกำลังไฟฟ้า ข้อกำหนดทางเทคนิคด้านหัวต่อและส่วนเชื่อมต่อและข้อกำหนดทางเทคนิคอื่นซึ่งผู้ผลิต/นำเข้า/จำหน่าย แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่สามารถเทียบเคียงได้ด้วยเหตุผลทางเทคนิค พร้อมทั้งยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องประชาสัมพันธ์และแสดงถ้อยคำข้างบรรจุภัณฑ์เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าไม่สามารถรับสัญญาณขณะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงได้ รวมถึงแสดงให้ทราบถึงอันตรายของการรับชมโทรทัศน์ขณะขับขี่รถยนต์ด้วย สำหรับกรณีเครื่องรับสัญญาณซึ่งไม่สามารถประมวลผลได้ด้วยตัวเอง (non-standalone receiver) อาทิ อุปกรณ์รับสัญญาณแบบต่อผ่านคอมพิวเตอร์ในรูปแบบ dongle หรือ PCI card ไม่ต้องรับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน
เรื่องที่ 5 ที่ประชุม กสท. ได้ตอบข้อหารือของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ในกรณี หากได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ จะสามารถนำรายการที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง7 ในระบบอนาล็อกมาออกอากาศโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้หรือไม่ ทาง กสท. มีความเห็นว่าในหลักการของการออกอากาศคู่ขนานเป็นสิ่งที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอล กรณีที่จะนำผังรายการออกอากาศคู่ขนานสามารถทำเรื่องร้องขอเข้ามาได้ แต่ทั้งนี้ผังรายการนั้นต้องไม่มี การเปลี่ยนแปลงจากการออกอากาศในระบบอนาล็อกและเนื้อหารายการต้องตรงกับหมวดหมู่เดียวกัน ส่วนกรณีนำรายการในระบบอนาล็อกมาออกอากาศบางส่วน ไม่ถือว่าเป็นการออกอากาศคู่ขนาน
เรื่องที่ 6 ที่ประชุม กสท. เห็นชอบข้อเสนอการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้ คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของ กองทัพบก บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และรับทราบอัตราค่าบริการโครงข่ายฯ ทั้งนี้สำนักงานกสทช. จะทบทวนอัตราค่าบริการโครงข่ายฯ หลังจากผู้ให้บริการทั้ง 4 รายปฏิบัติตามข้อเสนอการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายฯเรียบร้อยแล้วในระยะเวลา 1 ปีหรือตามที่คณะกรรมการกำหนด และผู้ให้บริการโครงข่ายฯทุกรายต้องนำเสนอข้อเสนอการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายฯและอัตราค่าบริการโครงข่ายฯ ต่อผู้ซื้อเอกสารการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการ ทางธุรกิจระดับชาติ ตามวันที่สำนักงาน กสทช.กำหนดต่อไป ซึ่งขณะนี้ผู้ให้บริการได้เสนออัตราค่าบริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ในระบบดิจิตอลเข้ามาดังนี้
ช่องความคมชัดปกติ (SD)
1. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 4.60ล้านบาท/ช่อง/เดือน
2. กรมประชาสัมพันธ์ 4.65 ล้านบาท/ช่อง/เดือน
3. กองทัพบก 4.72 ล้านบาท/ช่อง/เดือน 4. บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน)
4.76 ล้านบาท/ช่อง/เดือน
ช่องความคมชัดสูง (HD)
1. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 13.81 ล้านบาท/ช่อง/เดือน
2. กรมประชาสัมพันธ์ 13.95 ล้านบาท/ช่อง/เดือน
3. กองทัพบก 14.16 ล้านบาท/ช่อง/เดือน
4. บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) 14.28 ล้านบาท/ช่อง/เดือน
เรื่องที่ 7 ที่ประชุม กสท. เห็นชอบ(ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ. ...หลังจากผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้ว ทางสำนักงานฯได้นำเสนอต่อ ที่ประชุม กสท. และจะนำเสนอต่อ ที่ประชุม กสทช. เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้ต่อไป
ทั้งนี้ในวันที่ 15 ตุลาคม 2556 กสทช. จะจัดให้มีการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ(หลังการจำหน่ายเอกสารการประมูล ครั้งที่ 2) ที่อาคารหอประชุมชั้น 2 สำนักงาน กสทช. ซอยพหลโยธิน 8 (สายลม)
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สร้างโดย - (18/3/2559 14:23:50)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 27