มติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 3/2557 วันพุธที่ 19 มี.ค. 2557

นายฐากร  ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ผลการประชุม กสทช. ครั้งที่ 3/2557 วันนี้ (19 มี.ค. 2557) มีวาระสำคัญประกอบด้วย ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบการปรับปรุงระเบียบ กสทช. ว่าด้วยค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน พ.ศ. 2554 โดยปรับอัตราค่าตอบแทนของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ใหม่ในอัตราไม่เกิน 3 เท่าของอัตราค่าตอบแทนของคณะกรรมการตรวจสอบภายใน โดยสำหรับประธาน กตป. ได้รับอัตราค่าตอบแทนราเดือนในอัตราไม่เกินเดือนละ 225,000.- บาท และสำหรับกรรมการ กตป. ได้รับอัตราค่าตอบแทนรายเดือนในอัตราไม่เกินเดือนละ 180,000.- บาท ตามความเห็นของ สำนักงาน กสทช. เพื่อให้การกำหนดค่าตอบแทนของ กตป. มีความเหมาะสม สอดคล้องกับภารกิจและแนวทางการดำเนินงานและแผนการปฏิบัติงานของ กตป. ที่มีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการและการบริหารของ กสทช. กสท. กทค. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช.

จากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี 2557 จำนวน 73.21 ล้านบาท อันประกอบด้วย งบประจำ (งบค่าจ้างบุคลากร รายจ่ายในการดำเนินงาน) จำนวน 48.21 ล้านบาท และงบลงทุน (รายจ่ายโครงการ) จำนวน 25 ล้านบาท ที่ได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของงบประมาณรายจ่ายที่ขอรับการจัดสรรจากคณะอนุกรรมการพิจารณางบประมาณของสำนักงาน กสทช. แล้ว สำหรับรายจ่ายค่าตอบแทนที่ปรึกษา ผู้ปฏิบัติงาน เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ และค่าเบี้ยประชุมผู้เชี่ยวชาญ ประจำ คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ที่ประชุม กสทช. เห็นควรรอความชัดเจนจากความเห็นของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. โดยนำงบประมาณจำนวน 52.42 ล้านบาท ไปตั้งไว้รายการเงินงบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็น

โดยก่อนหน้านี้เมื่อคราวประชุม กสทช. ครั้งที่ 2/2557 ที่ประชุม กสทช. ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำส่งรายละเอียดการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 และแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี 2557 จำนวน 170.65 ล้านบาท                       ให้คณะอนุกรรมการพิจารณางบประมาณของสำนักงาน กสทช. กลั่นกรองความเหมาะสมของงบประมาณรายจ่ายที่ขอรับการจัดสรร พร้อมให้นำความเห็นของอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. ไปประกอบการพิจารณาด้วย

และ ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบการจัดสรรเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ประเภทที่ 1) ประจำปี 2557 ในกรอบวงเงิน 500 ล้านบาทโดยแบ่งสัดส่วนจำนวนเงินเป็นรายวัตถุประสงค์ จำนวน 4 วัตถุประสงค์ ตามมาตรา 52 แห่งพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 วัตถุประสงค์ละไม่เกิน 125 ล้านบาท และมีอนุมัติให้นำวงเงินที่เหลือจากการจัดสรรเงินกองทุนฯ (ประเภทที่ 1) ประจำปี 2556 จำนวน 45,621,070.- บาท มาสมทบรวมด้วย ทั้งนี้ กรอบวงเงินดังกล่าวจะนำไปจัดสรรให้กับโครงการที่ยื่นขอรับการจัดสรรเงินจากกองทุนฯ และผ่านการพิจารณาให้ได้รับทุนจากคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ต่อไป

          นอกจากนั้น ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบแนวปฏิบัติต่อผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์อยู่ในวันที่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ใช้บังคับ ซึ่งมีลักษณะการประกอบกิจการโดยการอนุญาต สัมปทานหรือสัญญา ดังนี้

1. การประกอบกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ซึ่งมีลักษณะการประกอบกิจการโดยการอนุญาต สัมปทานหรือสัญญา อยู่ในวันที่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ใช้บังคับ จะต้องดำเนินการตามมาตรา 43 วรรคสองแห่ง         พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ต้องประกอบกิจการด้วยตนเอง จะมอบหมายการบริหารจัดการทั้งหมด หรือบางส่วน หรือยินยอมให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีอำนาจประกอบกิจการแทนไม่ได้ แต่อาจจะสามารถให้บุคคลอื่นเช่าเวลาดำเนินรายการบางช่วงเวลาได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด ซึ่งกรณีประสงค์จะทำสัญญาให้ผู้อื่นเข้าร่วมดำเนินการ จะต้องปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการ พ.ศ.2556         ที่กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการต้องแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการอย่างน้อยร้อยละ10 แต่ไม่เกินร้อยละ 40         ของเวลาให้บริการกระจายเสียง

2. เพื่อสร้างกลไกสำหรับผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่เป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งมีลักษณะการประกอบกิจการโดยการอนุญาต สัมปทานหรือสัญญา มีแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับการอนุญาต สัมปทานหรือสัญญา จึงเห็นควร

2.1 แจ้งผู้ประกอบกิจการให้ถือปฏิบัติ ดังนี้

(1) ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ จะต้องประกอบกิจการด้วยตนเองตามมาตรา 43 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 หากประสงค์จะทำสัญญาให้ผู้อื่นเข้าร่วมดำเนินการ จะต้องปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การแบ่งเลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการ พ.ศ. 2556

(2) หากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ จะทำสัญญาให้ผู้อื่นเข้าร่วมดำเนินการ จะต้องนำส่งสัญญาดังกล่าวมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อนำส่งให้คณะอนุกรรมการพิจารณาสัญญาสัมปทานด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตรวจสอบและนำเสนอความเห็นต่อ กสท. เพื่อพิจารณาก่อนที่จะแจ้งให้คู่สัญญาดำเนินการลงนามในสัญญานั้นได้

2.2 รวมถึงมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. จัดทำมาตรฐานของสัญญาการแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการ เพื่อให้มีรูปแบบของสัญญาที่เป็นมาตรฐานสามารถใช้ได้เป็นการทั่วไป มีรายละเอียดที่ถูกต้องและครบถ้วนตามหลักกฎหมาย

2.3 และเห็นควรแจ้งผลการพิจารณาของ กสทช. ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่เป็นผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ทราบ เพื่อถือปฏิบัติต่อไป

และ ที่ประชุม กสทช. ยังได้เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... เพื่อให้ กสท. นำไปดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจนแล้วเสร็จ .... ..   ทั้งนี้ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ดังกล่าว สำนักงาน กสทช.ได้ร่วมกับ ผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลทางเทคนิคโดยละเอียด และเป็นไปตามสถานการณ์จากผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลระดับชาติ   เพื่อนำไปวิเคราะห์และปรับปรุงแผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ในส่วนของสถานีหลัก 39 สถานี โดยอาศัยซอฟต์แวร์สร้างแบบจำลองการแพร่กระจายคลื่น โดยมีวัตถุประสงค์ของการปรับปรุงแผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล    (สถานีหลัก 39 สถานี) และนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ดังนี้

          (1) เพื่อให้สอดคล้องกับรายละเอียดและลักษณะทางเทคนิคของสถานีของผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์

          (2) เพื่อลดหรือหลีกเลี่ยงปัญหาการรบกวนระหว่างระบบแอนะล็อกและระบบดิจิตอล หรือระบบดิจิตอลด้วยกันเอง รวมทั้งลดผลกระทบต่อประชาชนซึ่งยังคงรับสัญญาณโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกเดิม

          (3) เพื่อกำหนดแผนความถี่วิทยุสำหรับช่วงภายหลังการยุติสัญญาณโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกที่ชัดเจน รวมทั้งกำหนดแผนความถี่วิทยุสำหรับมัลติเพล็กซ์ที่ 6

          (4) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการขยายโครงข่าย (Deployment Schedule) ตามที่ กสทช. กำหนด

          (5) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการใช้ความถี่วิทยุของประเทศเพื่อนบ้าน และหลีกเลี่ยงปัญหาการรบกวนตามบริเวณชายแดน

และที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช.        เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... ที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการประสานงานการบริหารคลื่นความถี่เพื่อความมั่นคงของรัฐในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และที่ประชุม กสท. แล้ว และเห็นชอบในร่างประกาศดังกล่าว พร้อมมอบให้ประธาน กสท. ลงนามในร่างประกาศ จากนั้นให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการจัดทำร่างประกาศดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์ในการอนุญาตและการกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์บริการสาธารณะประเภทที่ 2 เพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ        โดยสาระสำคัญของร่างดังกล่าว ประกอบด้วย การกำหนดคุณสมบัติ  ลักษณะผังรายการ สัดส่วนรายการ และการหารายได้ รวมถึงการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ประเภทกิจการบริการสาธารณะ

สำหรับคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาตฯ บริการสาธารณะประเภทที่ 2 เพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ จะต้องเป็นนิติบุคคล ซึ่งเป็น กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายหรือมีความจำเป็นต้องดำเนินกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์เพื่อความมั่นคงของรัฐ หรือมีความจำเป็นต้องดำเนินกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐบรรลุผล และมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความมั่นคงของรัฐอย่างใดอย่างใด ดังต่อไปนี้ 1) พิทักษ์รักษา ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ 2) พิทักษ์ รักษาเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดน 3) รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ  หรือเป็นสมาคม มูลนิธิ หรือนิติบุคคลอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ ซึ่งมีความเหมาะสมกับการประกอบกิจการสาธารณะ หรือเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านการเรียนการสอนหรือการเผยแพร่ความรู้สู่สังคม  โดยองค์กรดังกล่าวจะต้องดำเนินการช่วยเหลือหรือร่วมกับหน่วยงานเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง และได้ดำเนินการช่วยเหลือหรือร่วมกับหน่วยงานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี

นอกจากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติอนุมัติการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานเพื่อพิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับภารกิจด้านกิจการดาวเทียมระหว่างสำนักงาน กสทช. กับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการประสานงานฯ ดังกล่าวมีหน้าที่ รวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์ นโยบายของรัฐบาล นโยบายของ กสทช. ข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านกิจการดาวเทียม และจะหารือร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อที่จะพิจารณาจัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับภารกิจด้านกิจการดาวเทียมระหว่างทั้งสองหน่วยงาน เพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่ก่อให้เกิดความสับสนในการปฏิบัติงานของผู้ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านกิจการดาวเทียมทั้งภายในและระหว่างประเทศ เพื่อขจัดอุปสรรคในการปฏิบัติภารกิจด้านกิจการดาวเทียม โดยคณะอนุกรรมการประสานงานฯ นี้ มีระยะเวลาการปฏิบัติงาน 6 เดือน    นับถัดจากวันที่ได้รับการแต่งตั้ง สำหรับภารกิจด้านกิจการดาวเทียมประกอบด้วย 1.การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับกิจการดาวเทียมในระดับประเทศที่มีขอบเขตของงานเป็นไปตามอำนาจอธิปไตยของฝ่ายบริหาร และการกำหนดนโยบายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับการกำกับการประกอบกิจการดาวเทียม   2.การออกใบอนุญาตวิทยุคมนาคมที่เกี่ยวข้อง   3.การออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง   4.การประสานงานตามข้อบังคับวิทยุ (Radio Regulations – PR) แห่งสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และ 5.การกำกับดูแลดาวเทียมและเอกสารข่ายงานดาวเทียม (Satellite Network Filing) ของประเทศไทยที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน และที่ไม่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน

และที่ประชุม กสทช. ยังได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราอ้างอิง พ.ศ. .... เพื่อนำไปจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามที่สำนักงาน กสทช.    เสนอ โดยการจัดทำร่างประกาศดังกล่าว เป็นการปรับปรุงอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราอ้างอิง (Reference Rate) เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ที่สภาพเทคโนโลยีและการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมเปลี่ยนแปลงไป โดยใช้วิธีการคำนวณซึ่งสอดคล้องกับประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานการคำนวณอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (ใช้บังคับวันที่ 26 ตุลาคม 2556)  ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามแนวทางการกำกับดูแลและการกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการโทรคมนาคมโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ สำหรับอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราอ้างอิงการใช้บังคับในกรณี

1.ผู้รับใบอนุญาตไม่สามารถเจรจาตกลงอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างกันได้ หรือในกรณีข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม

2.กรณีที่การคำนวณอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมยังไม่แล้วเสร็จ หรือยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก กสทช.

3.กรณีอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

4.  ทั้งนี้ ผู้รับใบอนุญาตที่ใช้อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมในข้อเสนอการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ในอัตราค่าตอบแทนที่เท่ากับอัตราอ้างอิงตามประกาศนี้ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องแสดงหลักการและวิธีการคำนวณอัตราค่าตอบแทนการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมต่อสำนักงาน กสทช.เพื่อเสนอให้ กสทช. พิจารณาเห็นชอบ


อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราอ้างอิง

 

ประเภทกิจการ

บริการการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม

อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราอ้างอิง

(บาท/นาที)

1 ก.ค. 2557 – 30 มิ.ย. 2558

1 ก.ค. 2558 เป็นต้นไป

โทรศัพท์เคลื่อนที่

Call Origination

0.45

0.34

Call Termination

0.45

0.34

Call Transit

0.06

0.04

โทรศัพท์ประจำที่

Call Origination

0.45

0.34

Call Termination

0.45

0.34

Call Transit

0.16

0.16



หมายเหตุ อัตรา Call Transit เป็นอัตราเฉลี่ยระหว่าง single transit และ double transit

รวมถึง ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบในหลักการให้ใช้เงินเพื่อเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เพิ่มเติมจำนวน 17 ล้านบาท โดยเห็นชอบให้ยืมจากเงินสำรองจ่ายจากรายได้ตามมาตรา 65 (3) รายได้จากทรัพย์สินของสำนักงาน กสทช. โดยเมื่อดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายจากเงินที่ได้จากการประมูล ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนเงินที่ได้รับความเห็นชอบไปแล้วจำนวน       63 ล้านบาทแล้ว จะเป็นเงินจำนวนรวมทั้งสิ้น 80 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อรองรับแผนการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่อยู่ในช่วงระยะเวลาคุ้มครองตามมาตรการเยียวยาของ กสทช. พร้อมทั้งออกใบอนุญาตฯ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 ก.ย. 2557 ก่อนระยะเวลาความคุ้มครองผู้ใช้บริการของ กสทช. สิ้นสุดลง

และ ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. …. ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้ว และให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไป สำหรับร่างประกาศฉบับนี้ สืบเนื่องจากที่การบริหารและจัดการเลขหมายโทรคมนาคมเป็นงานต้นน้ำที่จะส่งเสริมให้การให้บริการโทรคมนาคมของผู้ประกอบการ สามารถตอบสนองตามความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาการบริการโทรคมนาคมและการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย  กสทช. เล็งเห็นความจำเป็นที่จะมีการปรับปรุงแผนเลขหมายโทรคมนาคม และกฎเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม ให้มีความทันสมัยมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการและการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันและอนาคต         ทั้งนี้   ร่างประกาศฉบับนี้ มีการปรับปรุงแก้ไขจากประกาศ กทช. เรื่อง แผนเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 สรุปได้ดังนี้

1.มีการปรับปรุงแผนเลขหมายให้เหมาะสมตามสภาพตลาดโทรคมนาคมที่เปลี่ยนแปลงไป       โดยกำหนดแผนเลขหมายให้ทันสมัย และรองรับความต้องการในการใช้งานเลขหมายแต่ละประเภทเพียงพอ       ในอนาคต เช่น

§ กรณีเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ ได้มีการปรับปรุงให้มีการกำหนดรหัสพื้นที่               ให้สอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบัน

§ กรณีเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้มีการปรับปรุงให้มีจำนวนเลขหมายเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต โดยมีการกำหนดเลขหมายสำรองเพิ่มเติมอีก 50 ล้านเลขหมายในหมวด 06 ซึ่งจะทำให้มีเลขหมายเพิ่มขึ้นจากแผนเลขหมายเดิมที่กำหนดไว้ 300 ล้านเลขหมาย เป็น350 ล้านเลขหมาย

§ กรณีเลขหมายโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ได้มีการปรับปรุงให้มีจำนวนเลขหมายเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนความต้องการในอนาคตจากการเปิดให้มีการแข่งขันเสรีในกิจการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ จากแผนเลขหมายเดิมกำหนดไว้แค่หมวด 00X แต่แผนเลขหมายใหม่   มีการเพิ่มหมวด10X ซึ่งทำให้มีเลขหมายเพิ่มขึ้นจากเป็น 19 เลขหมาย จากเดิม 9 เลขหมาย

2.มีการกำหนดเลขหมายประเภทธุรกิจอื่นๆ และเลขหมายทางเทคนิคเพิ่มขึ้น ซึ่งแผนเลขหมายเดิมไม่ได้มีการกำหนดรองรับไว้ ประกอบด้วย เลขหมายเทคนิค เช่น Mobile Network Code, Routing Code, Signalling Point Code (SPC) และเลขหมาย SMS, MMS ที่เป็นบริการเสริมต่างๆ

3.มีการกำหนดเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติหมายเลข 112 ตามข้อเสนอแนะของ ITU

4.ยกเลิกการจัดกลุ่มประเภทเลขหมาย 4 หลัก ซึ่งเดิมกำหนดตามภารกิจ เช่น หมวดเลขหมาย 11xx ใช้สำหรับศูนย์ข้อมูลภาครัฐ, 15xx 16xx 17xx ใช้สำหรับเชิงพาณิชย์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อทำให้สามารถนำเลขหมายมาบริหารและจัดสรรได้อย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

และท้ายสุด ที่ประชุม กสทช. ยังได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ  กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. .... ซึ่งผ่านการรับฟังความเห็นสาธารณะเรียบร้อยแล้ว และให้นำไปประกาในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ทั้งนี้ ร่างประกาศฉบับนี้เป็นการปรับปรุงเนื้อหาจากประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 ในประเด็นหลักๆ ดังนี้

1.ปรับปรุงให้สอดคล้องกับแผนเลขหมายฉบับใหม่

2.ปรับปรุงกระบวนการจัดสรรและบริหารเลขหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดขั้นตอนการดำเนินงานที่ไม่จำเป็นออก ลดภาระผู้ขอรับการจัดสรรเลขหมาย และมีการกำหนดระยะเวลาการพิจารณาที่ชัดเจน

3.ปรับปรุงเกณฑ์ในการพิจารณาจัดสรรเลขหมายให้เหมาะสมกับสภาพตลาดและการแข่งขันในปัจจุบัน

4.กรณีเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่

§ อนุญาตให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) ขอรับการจัดสรรเลขหมายโดยตรงจาก กสทช. ได้ ซึ่งเดิมต้องขอผ่านผู้ประกอบการที่มีโครงข่ายหรือ MNO ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการแข่งขัน ลดอุปสรรค และเพิ่มความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจของ MVNO

§ ปรับปรุงกฎเกณฑ์เรื่องการคืนเลขหมาย จากเดิมจะต้องคืนทั้งกลุ่มเลขหมาย กลุ่มละ 10,000 เลขหมาย ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถคืนเลขหมายที่ไม่ใช้งานกลับคืนให้ กสทช. ได้เป็นผลทำให้ไม่สามารถนำเลขหมายเหล่านั้นมาหมุนเวียนจัดสรรให้กับรายอื่นได้ และผู้ประกอบการจะต้องมีภาระค่าธรรมเนียมในเลขหมายว่างนั้นๆ ด้วย ดังนั้น ในประกาศฉบับใหม่จะอนุญาตให้สามารถคืนกลุ่มเลขหมายที่มีเลขหมายว่างแบบไม่เต็มกลุ่มได้ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการคืนเลขหมายและเพื่อให้มีการนำเลขหมายที่ว่างไปจัดสรรใหม่ได้มากขึ้น และทำให้มีเพียงพอต่อความต้องการสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในอนาคต 

5.เพิ่มกฎเกณฑ์การบริหารและจัดสรรเลขหมายประเภทอื่นที่ประกาศเดิมไม่ได้กำหนดไว้ ประกอบด้วย เลขหมายนำกลุ่ม เลขหมายด้านเทคนิค

6.สำหรับในเรื่องค่าธรรมเนียมเลขหมาย

§ ปรับปรุงการชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายสั้น (3 – 4 หลัก) จากเดิมชำระเป็นรายเดือนให้ชำระเป็นรายปี

§ ปรับปรุงการชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ โทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรศัพท์ VOIP  และโทรศัพท์สำหรับเลขหมายนำกลุ่ม ในกรณีการขอรับการจัดสรรเลขหมายครั้งแรกและการขอรับการจัดสรรเลขหมายเพิ่มเติม ให้คิดค่าธรรมเนียมเป็นสัดส่วนกับวันที่ได้รับจัดสรรเลขหมาย (pro rate) โดยไม่คิดเหมารายเดือน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับผู้ขอรับการจัดสรรเลขหมายมากขึ้น

7.กำหนดเรื่องการบริหารจัดการข้อมูลเลขหมายโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้รับการจัดสรรเลขหมายมีหน้าที่บริหารและจัดการฐานข้อมูลเลขหมายและรายงานข้อมูลเลขหมายของตนต่อสำนักงาน กสทช. เพื่อให้การบริหารจัดการเลขหมายของสำนักงาน กสทช. มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 

Download

  • Press-Release-190357-มติที่ประชุม-กสทช-ครั้งที่-3_2557-วันพุธที่-19-มี-ค-2557.doc

สร้างโดย  -   (15/3/2559 10:51:50)

Download

Page views: 84