“สุทธิพล”เตือนอย่าชะล่าใจกรณีพม่าปิดโรงงานส่งก๊าซกระตุกโอเปอร์เรเตอร์เตรียมมาตรการรับมือ-ย้ำผู้บริโภคต้องไม่ได้รับผลกระทบ
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมายในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานได้ออกมาประกาศเกี่ยวกับ “แผนรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน” เพื่อรับมือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับในบางพื้นที่ อันเนื่องมาจากกรณีที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าจะปิดซ่อมฐานและบำรุงรักษาท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ระหว่างวันที่ 5 - 14 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ประเทศไทยมีความต้องการในการใช้พลังงานจากไฟฟ้าเป็นอย่างมาก จึงอาจส่งผลกระทบต่อกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า และเป็นเหตุให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อาจมีการหยุดการจ่ายกระแสไฟฟ้าในบางพื้นที่เป็นบางช่วงเวลาในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ทั้งนี้หากเกิดกรณีที่มีปัญหาการจ่ายกระแสไฟฟ้าในบางพื้นที่ขึ้นจริง และเป็นระยะเวลานานนั้น ก็อาจส่งผลกระทบถึงสถานีวิทยุคมนาคม (สถานีฐาน) ของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งต้องใช้กระแสไฟฟ้าด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการกำหนดแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานว่าสามารถจะบริหารจัดการกำลังไฟฟ้าสำรอง เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อการจ่ายกระแสไฟฟ้า หรือหากมีปัญหา ก็จะบริหารจัดการการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้มีผลกระทบแก่ประชาชนน้อยที่สุดแล้วก็ตาม แต่เพื่อความไม่ประมาท และเป็นการเตรียมการรองรับเพื่อมิให้การให้บริการโทรคมนาคมต้องหยุดชะงักและส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ หากเกิดปัญหาในกรณีดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นควรให้สำนักงาน กสทช. มีการตื่นตัว แต่ไม่ตื่นตูม ใน 3 แนวทาง คือ 1. ติดตามสถานการณ์ในกรณีนี้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งศึกษาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานดังกล่าว 2. แจ้งเตือนผู้ประกอบการที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้มีการเตรียมการและมีแผนรองรับที่เหมาะสม ต่อกรณีดังกล่าว ตามเงื่อนไขการอนุญาตฯ ในเรื่องเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ และมาตรฐานของเครื่องและอุปกรณ์ระบบโทรคมนาคม และ 3. ลงพื้นที่ตรวจสอบการเตรียมความพร้อมในส่วนของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวด้วย
กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย กล่าวด้วยว่า ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานระบุว่า ประเทศไทยต้องพึ่งพาพลังงานจากก๊าซในการผลิตไฟฟ้าถึง 70% และก๊าซที่ส่งมาจากประเทศพม่าก็ถือเป็นแหล่งพลังงานหนึ่งที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งกำลังผลิตไฟฟ้าของไทยทั้งประเทศอยู่ที่ 33,000 เมกะวัตต์ต่อวัน โดยคาดการณ์ว่าในวันที่ 4 เมษายน 2556 ประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าถึง 26,000 เมกะวัตต์ ส่วนในวันที่ 5 เมษายน 2556 มีความต้องการใช้ไฟฟ้า 25,000 เมกะวัตต์ และคาดการณ์กันว่าหากประเทศพม่าหยุดส่งก๊าซให้ไทยเพื่อทำการซ่อมบำรุงในวันที่ 5 เมษายนนี้ ก็จะเหลือพลังงานเพียง 690 เมกะวัตต์เท่านั้น
“แม้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะออกมายืนยันว่าสามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้อย่างแน่นอนและมีประสิทธิภาพ แต่ในส่วนของ กสทช. โดย กทค. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมไม่ประมาท จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมืออยู่ตลอดเวลา เพื่อมิให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ หรือบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น” ดร.สุทธิพล กล่าวทิ้งท้าย
Download
เตือนอย่าชะล่าใจ-กรณีพม่าปิดโรงงานส่งก๊าซ.doc
สร้างโดย - (30/3/2559 11:37:21)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 33