เปิดคำตัดสินศาลปกครองกลาง...!
จากกรณีที่มีกลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมายบางกลุ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองที่ว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช. ) โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (บอร์ด กทค.) ไม่มีฐานอำนาจในการออกประกาศ “ห้ามซิมดับ” และมีความสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2556 บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ (CAT) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้สัมปทานคลื่น 1800 MHz ได้นำประเด็นนี้ไปยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช. ) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (บอร์ด กทค.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2128/2556 เกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายของ กสทช. กทค. และสำนักงาน กสทช. ในการออกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 หรือ (ประกาศห้ามซิมดับ) และการออกคำสั่งทางปกครองเกี่ยวกับคลื่นความถี่ 1800 MHz โดยขอให้เพิกถอนประกาศฯเรียกค่าเสียหายกว่า 2 แสนล้านบาท พร้อมขอให้ กสทช.อนุญาตให้ CAT ใช้คลื่นความถี่ (1800 MHz ที่สัมปทานหมดอายุ) ได้ตลอดไป โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาคืนคลื่นความถี่ฯ ทั้งยังมีคำขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษามาพร้อมกับคำฟ้อง โดยอ้างว่าคดีนี้มีมูลและเหตุผลเพียงพอทั้งด้านข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จะชนะคดีนี้ได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไปชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาลปกครองกลาง ซึ่ง กสทช. และ กทค. โดย ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช.ด้านกฎหมาย เป็นผู้รับมอบอำนาจจาก กสทช. และ กทค. รวมทั้ง รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ รวมด้วยผู้บริหารของสำนักงาน กสทช. ได้ไปชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาลปกครองกลางด้วยวาจา พร้อมยื่นคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาลปกครองกลาง โดยชี้แจงคัดค้านมูลเหตุแห่งคดีและโต้แย้งทั้งประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งทางกสทช.เห็นว่าคำฟ้องไม่ชอบ ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ประกาศและกระบวนการการออกประกาศฯดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่และชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้ไม่เป็นสาระอันควรแก่การวินิจฉัย รวมทั้งไม่มีเงื่อนไขตามกฎหมายเพียงพอที่ศาลจะสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่ผู้ร้องมีคำขอฯ
ศาลปกครองกลางได้ตรวจพิจารณาคำฟ้อง คำชี้แจงของผู้ฟ้องคดี คำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม บันทึกถ้อยคำของคู่กรณีชั้นไต่สวน รวมทั้งเอกสารอื่นๆในสำนวนคดี ตลอดจนได้ตรวจพิจารณาบทกฎหมายและกฎที่สำคัญ และได้รับฟังคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีตลอดจนพิเคราะห์คำขอกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อทุเลาการบังคับตามกฎ หรือคำสั่งทางปกครองของผู้ฟ้องคดีแล้ว จึงมีคำสั่งลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่รับคำฟ้องบางข้อหาไว้พิจารณา และยกคำขอทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองไว้ชั่วคราวก่อนการพิจารณา ส่งผลให้ข้อหาตามคำฟ้องของ CAT ใน 5 ประเด็นต้องตกไป และคำขอคุ้มครองชั่วคราวของ CAT ที่ต้องการให้ศาลสั่งระงับการใช้และหรือดำเนินการใดตามประกาศห้ามซิมดับเป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด จึงต้องตกไปเช่นกัน เป็นผลดีให้ประชาชนผู้ใช้บริการที่ยังตกค้างอยู่ในระบบ 1800 MHz ที่หมดอายุสัมปทานไปเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2556 จำนวนกว่า 17 ล้านราย ยังคงได้รับการคุ้มครองตามประกาศห้ามซิมดับต่อไป
ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางได้ให้เหตุผลแห่งการวินิจฉัยในประการที่สำคัญ กรณียกคำขอทุเลาการบังคับของ CAT ดังนี้
“...เห็นว่า ประกาศดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (กสทช.) ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อมิให้การได้รับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ผู้ใช้บริการได้รับตามปกติต้องสะดุดหยุดลงอันมีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด เพื่อบุคคลใด เป็นการเฉพาะ...”
“... ศาลได้พิเคราะห์มาตรา 27 (4) (6) (7) (13) และ (24) มาตรา 28 และมาตรา 84 แห่ง พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ประกอบกับมาตรา 15 แห่ง พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 แล้ว เห็นว่า กฎหมายบัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (กสทช.) มีอำนาจหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการ และคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม.... และเพื่อการนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (กสทช.) ย่อมมีอำนาจออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งอันเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตนได้ ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดี(CAT)ในฐานะผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และตามเงื่อนไขที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (กสทช.) กำหนด โดยจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (กสทช.) ...
.....และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (กสทช.) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2556 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2556 เห็นชอบให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สำนักงาน กสทช.) ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศฉบับดังกล่าว ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สำนักงาน กสทช.) ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ... หรือ (ประกาศห้ามซิมดับ) และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว .... และได้นำเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (กสทช.) เพื่อพิจารณา จนกระทั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ (กสทช.) มีมติเห็นชอบให้มีการประกาศใช้ประกาศดังกล่าว.....
....ในชั้นนี้จึงเห็นว่าการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (กสทช.) เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในฐานะองค์กรกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อกำหนดหน้าที่ให้ผู้ให้สัมปทานและผู้รับสัมปทานตามการอนุญาต สัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ปฏิบัติเพิ่มเติมอันเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะ กรณียังไม่พอฟังว่าการออกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ซึ่งมีลักษณะเป็นกฎนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย....”
“เมื่อได้พิเคราะห์แล้วว่าการออกกฎและคำสั่งพิพาทยังไม่พอฟังว่าเป็นกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นเงื่อนไขประการแรกของการที่ศาลจะมีอำนาจมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองได้ นอกจากนั้น ยังเป็นคำขอที่เป็นประเด็นเนื้อหาของคดีซึ่งศาลจำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริงให้ได้ความครบถ้วนจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเสียก่อน แล้วจึงจะมีคำวินิจฉัยต่อไปได้ ดังนั้น จึงยังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองไว้ชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดี (CAT)”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. ด้านกฎหมาย ได้ให้สัมภาษณ์ว่ารู้สึกพอใจกับผลของคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ซึ่งได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้อย่างละเอียด ครบถ้วน โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่า การออกประกาศห้ามซิมดับเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ซึ่งจะต้องคุ้มครองบริการโทรคมนาคมอันเป็นบริการสาธารณะไม่ให้ต้องสะดุดหยุดลง โดยได้มีกระบวนการออกประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้นในชั้นนี้ จึงยังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวตามที่ CAT ขอเพื่อระงับการใช้ประกาศนี้
การวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง แม้จะเป็นเรื่องการวินิจฉัยให้ไม่รับฟ้องในบางประเด็นและยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวเท่านั้น โดยยังไม่มีผลต่อการแพ้ชนะในเนื้อหาของคดี แต่จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางในครั้งนี้ก็จะส่งผลดีต่อประโยชน์ของผู้บริโภคจำนวนมากที่ยังใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ให้ต้องผวากลัวว่าซิมจะดับอีกต่อไป เนื่องจากคำขอที่CAT ต้องการให้ระงับการใช้ประกาศนี้ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกไปแล้วและไม่สามารถอุทธรณ์คำสั่งของศาลในส่วนนี้ได้ จึงเป็นผลให้ขณะนี้ประกาศห้ามซิมดับยังมีผลคุ้มครองผู้บริโภคตลอดอายุการคุ้มครองชั่วคราวตามประกาศอยู่ ซึ่งจากนี้ต่อไปจะเป็นขั้นตอนการต่อสู้ในเนื้อหาของคดีโดยเฉพาะในประเด็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งตนมั่นใจว่า กสทช. มีพยานหลักฐานที่ชัดเจนที่จะพิสูจน์หักล้างข้อกล่าวหาของ CAT ในทุกประเด็น
“ผลจากคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางยังสะท้อนให้เห็นอีกว่า การนำคดีมาฟ้องต่อศาล จะต้องระมัดระวัง ต้องตรวจสอบประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้ละเอียดถี่ถ้วน โดยไม่ควรเร่งรีบฟ้องคดีเร็วจนเกินไป เพราะแม้ในเบื้องต้นจะมีการรับคำฟ้องไว้ แต่เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิฟ้อง ศาลปกครองก็จะมีอำนาจสั่งให้ไม่รับคำฟ้องในข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิฟ้องได้ ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีนี้ ทั้งๆ ที่สามารถตรวจสอบให้รอบคอบก่อนได้” ดร.สุทธิพล กล่าวทิ้งท้าย
สร้างโดย - (15/3/2559 11:27:40)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 1630