“แจส-ทรู” ชนะการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ใช้เวลา 4 คืน 5 วัน ราคารวมทะลุ 151,952 ล้านบาท
พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ได้จบลง โดยเข้าสู่วันที่ 5 ของการประมูล (19 ธ.ค. 2558) โดยใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 65 ชั่วโมง 55 นาที (ไม่รวมเวลาหยุดพักการประมูล) รวม
198 รอบ ตลอดการประมูลมีการแข่งขันราคากันอย่างต่อเนื่อง สะท้อนความต้องการในการใช้คลื่นความถี่ของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ประเทศจะก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีโทรคมนาคมที่ทันสมัย ประชาชนได้ประโยชน์จากการใช้บริการที่มีคุณภาพและราคายุติธรรม สามารถสร้างโครงข่ายการสื่อสารเพื่อเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิตอลตามนโยบายของรัฐบาล และยังสามารถนำรายได้จากการประมูลส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
พ.อ. ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (ประธาน กทค.) กล่าวว่า ผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz เริ่มขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค.2558 และได้สิ้นสุดลง ณ เวลา 00.15 น. ของนวันที่ 19 ธ.ค. 2558 ราคาประมูลรวมของคลื่นความถี่ 2 ชุด เท่ากับ 151,952 ล้านบาท โดยมีผู้ชนะการประมูลในแต่ละชุดคลื่นความถี่ ดังนี้
1. ชุดที่หนึ่ง คลื่นความถี่ 895-905 MHz คู่กับ 940-950 MHz ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ราคาสุดท้ายที่เสนอ 75,654 ล้านบาท และ
2. ชุดที่สอง คลื่นความถี่ 905-915 MHz คู่กับ 950-960 MHz ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ราคาสุดท้ายที่เสนอ 76,298 ล้านบาท
สำหรับผู้ไม่ชนะการประมูลประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ชุดคลื่นความถี่สุดท้ายที่เสนอ คือ ชุดที่ 2 ราคาสุดท้ายที่เสนอ 75,976 ล้านบาท และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ชุดคลื่นความถี่สุดท้ายที่เสนอ คือ ชุดที่ 1 ราคาสุดท้ายที่เสนอ 70,180 ล้านบาท
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมจึงขอประกาศผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และให้การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในครั้งนี้สิ้นสุดลง
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมบนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ทั้งสองใบอนุญาตมีอายุ 15 ปี โดยขั้นตอนจากนี้ กทค. จะมีการประชุมเพื่อรับรองผลการประมูลอย่างเป็นทางการ และสำนักงาน กสทช. จะประกาศผลการประมูลอย่างเป็นทางการภายใน 7 วัน จากนั้น กสทช. จะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามให้แก่ผู้เข้าร่วมการประมูลภายหลังจากผู้เข้าร่วมการประมูลได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตอย่างครบถ้วน ถูกต้องภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล
สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz กสทช. ได้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต โดยกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมประชากร 50% ภายใน 4 ปี และต้องครอบคลุมประชากร 80% ภายใน 8 ปี ในส่วนของอัตราค่าบริการ 4G จะต้องมีอัตราค่าบริการถูกกว่าอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนั้นผู้รับใบอนุญาตจะต้องจัดให้มีแพ็คเกจราคาประหยัดสำหรับผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีรายได้น้อยคือมีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท โดยผู้รับใบอนุญาตจะต้องส่งแผนต่อ กทค. ก่อนเริ่มให้บริการ และต้องดำเนินการตามแผนภายใน 1 ปี นับจากวันที่เริ่มให้บริการ
“การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในครั้งนี้ ดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์ โปร่งใส และยุติธรรม โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนและรัฐเป็นที่ตั้ง รวมทั้งสร้างความสมดุลบนการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรมให้เกิดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม” นายฐากร กล่าว
สร้างโดย - (29/1/2559 18:14:39)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 2390