กทค. รับรอง 4 บริษัทผ่านคุณสมบัติและมีสิทธิเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz พร้อมไฟเขียว TOT อัพเกรดการใช้งานคลื่นความถี่ 2.4 GHz
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (29 ต.ค. 2558) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะทำงานฯ ในการรับรองผู้ผ่านคุณสมบัติและมีสิทธิเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1.บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด 2.บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด 3.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และ4.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หลังจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะส่งหนังสือแจ้งไปยังทั้ง 4 บริษัท และจะได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติและมีสิทธิเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz เพื่อให้ทั้ง 4 บริษัทได้รับทราบว่าผ่านคุณสมบัติเรียบร้อยแล้วและเตรียมตัวเข้าร่วมการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 6 พ.ย. 2558 นี้
จากนั้น ที่ประชุม กทค. ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) อัพเกรดการใช้งานคลื่นความถี่ 2.4 GHz ซึ่งมีอายุใบอนุญาตให้ใช้งานได้ถึงปี 2568 โดยการขอปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ของทีโอทีดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามมาตรา 48 วรรค 3 ซึ่งกำหนดไว้ว่าให้ กสทช. ติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ และต้องปรับปรุงแผนแม่บนดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการบริหารคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้นการที่ กทค. มีมติอนุมัติให้ทีโอทีปรับปรุงคลื่นความถี่ดังกล่าว นอกจากจะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานของรัฐในการที่จะใช้งานคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนแต่อย่างใด อีกทั้งหากหน่วยงานของรัฐสามารถนำคลื่นความถี่ดังกล่าวที่ยังไม่สิ้นสุดการใช้งานไปใช้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นก็จะส่งผลดีทั้งการให้บริการกับประชาชนที่จะมีคุณภาพดียิ่งขึ้น และเพิ่มรายได้ให้กับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งก็จะนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไปอีก ที่ประชุม กทค. จึงมีมติอนุมัติให้ทีโอทีปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ 2.4 GHz ซึ่งทีโอทีขอมา 64 MHz โดยอนุมัติให้ไม่เกิน 60 MHz เนื่องจาก 4 MHz ไม่ตรงกับแผนการจัดสรรความถี่ซึ่งจะต้องจัดสรรล็อตละ 5 MHz ทั้งนี้ในการปรับปรุงคลื่นความถี่หากทีโอทีใช้งานไม่หมด ขอให้พิจารณาส่งคลื่นคืนกลับมายัง กสทช. เพื่อจะนำไปใช้งานอื่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
นายฐากร กล่าวว่า นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ยังพิจารณารูปแบบการประมูล ซึ่งในกรณีใดบ้างที่จะเป็นการส่อไปในทางฮั้วประมูล โดยหากการประมูลทั้ง 2 วัน และผลการประมูลออกมาโดยรัฐอาจจะได้รายได้ขั้นต่ำสุด 95% ของทั้งสองคลื่นความถี่ และมีผู้ประกอบการชนะการประมูลบริษัทละ 1 ใบอนุญาต พฤติกรรมดังกล่าวน่าจะส่อไปในการฮั้วประมูลค่อนข้างแน่นอน ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะเสนอยกเลิกการประมูล และจะดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป แต่ในกรณีที่การชนะการประมูลราคาสูงกว่า 100% และมีผู้ชนะการประมูลได้ใบอนุญาตบริษัทละ 1 ใบเช่นเดิม ในลักษณะหลังคงต้องนำข้อมูลของการประมูล และพฤติกรรมต่าง ๆ มาวิเคราะห์อีกครั้งว่าจะเกิดการฮั้วประมูลหรือไม่ หรือผู้ประมูลในแต่ละคลื่นในย่านความถี่นั้นได้สู้ราคากันเต็มที่แล้ว แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดในวงเงินที่เคาะราคา ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะพิจารณาด้วยความรอบคอบ ในการที่จะเสนอบอร์ด กทค. เพื่อรับรองผลประมูล เพื่อให้เกิดความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรมให้มากที่สุด
“สำนักงาน กสทช. ขอเรียนว่าไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ 1 หรือกรณีที่ 2 คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นค่อนข้างยาก หรืออาจไม่เกิดขึ้นเลย แต่อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องปรามดังกล่าว สำนักงานฯ ฝากเตือนผู้ประมูลครั้งนี้ ขอให้ปฏิบัติตนโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการโดยรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและรัฐเป็นที่ตั้ง” นายฐากร กล่าว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
Download
Press-Release.doc
สร้างโดย - (7/3/2559 16:47:01)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 49