ผลการประชุม กทค. วันที่ 26 สิงหาคม 2556 รับรายงานผลวิเคราะห์จากคณะทำงาน ไอพีสตาร์ ชี้เบื้องต้นสัญญาสัมปทานเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงไอซีที
ผลการประชุม กทค. วันที่ 26 สิงหาคม 2556
รับรายงานผลวิเคราะห์จากคณะทำงาน ไอพีสตาร์ ชี้เบื้องต้นสัญญาสัมปทานเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงไอซีที
นายเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (ประธาน กทค.) เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 30/2556 ได้ประชุมกันใน 2 วาระ ดังนี้
ได้แก่วาระที่ 1 ที่ประชุม กทค. ได้รับรายงานจากคณะทำงานเพื่อศึกษาการประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสาร ไอพีสตาร์ ของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งแต่งตั้งขึ้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2556 เพื่อศึกษาการประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสาร ไอพีสตาร์ โดยได้รายงานผลการศึกษาวิเคราะห์เบื้องต้นทั้งในส่วนข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคมตลอดจนประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทาง กทค. นำไปศึกษาและให้ความเห็นเข้าที่ประชุม เพื่อจะให้มติในทางใดทางหนึ่งต่อไป
โดยรายงานตามข้อเท็จจริงดังนี้การดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อีกทั้งกระทรวงเทคโนโลยีสาระสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ยังไม่ได้บอกเลิกเพิกถอนกรณีดาวเทียมไทยคม 4 หรือ ไอพีสตาร์ จึงทำให้ดาวเทียมไอพีสตาร์ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงไอซีที และยังบริการตามเงื่อนไขข้อกำหนดของสัญญาดำเนินการซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน ซึ่งทางกระทรวงไอซีที อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษา จึงเป็นผลผูกพันโดยตรงตามคำพิพากษาดังกล่าว
ทั้งนี้ ในที่ประชุมกทค. ครั้งนี้ ได้มอบหมายให้ทางสำนักงาน กสทช. ไปดำเนินการติดตามเรื่องจากกระทรวง ไอซีที ดังนั้นเมื่อกระทรวงไอซีที ดำเนินการใดๆ จึงจะแจ้งผลมาทาง สำนักงาน กสทช. ทราบ จากนั้น กสทช. และสำนักงาน กสทช. จึงจะพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆต่อไป ซึ่งในเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับคำพิพากษาและประเด็นทางกฎหมาย
นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นส่วนความเห็นของคณะทำงานที่นายฐากร ตันฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งขึ้นและสรุปความเห็นหลักๆ โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องการแปลความคำพิพากษาของศาลฏีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งในผลของคำพิพากษามีตอนที่กล่าวถึงการดำเนินการของดาวเทียมไอพีสตาร์ เราจึงได้ตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งจะต้องต้องมาพิจารณาบทบาทของ กสทช. ที่จะเข้ามากำกับดูแลเป็นอย่างไร จึงต้องมาดูผลของคำพิพากษาว่าเกี่ยวข้องอย่างไร จึงได้แยก คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กับคำพิพากษาของศาลฏีกา ซึ่งถ้าเป็นกรณีคำวินิจัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลผูกพันกับองค์กร แต่กรณีนี้เป็นคำพิพากษาของศาลฏีกา ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้มีผลผูกพันกับองค์กร ซึ่งกรณีนี้เป็นส่วนการฟ้องร้องขึ้นมา และเป็นส่วนของอัยการสูงสุดที่เป็นฝ่ายรัฐกับผู้ถูกกล่าวหาคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวก
คณะทำงานได้วิเคราะห์ต่อไปว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้และผู้รับสัญญาสัมปทาน ซึ่งสัญญาสัมปทานยังไม่สิ้นสุด จึงต้องพิจารณาว่าได้กระทำผิดสัญญาสัมปทานหรือไม่ และกระทรวงไอซีทีเคยยืนยันว่ายังไม่ได้ยกเลิกเพิกถอนสัญญาสัมปทาน เพราะฉะนั้นเมื่อสัญญาสัมปทานยังไม่สิ้นสุด คู่สัญญาจึงมีหน้าที่ และได้รับความคุ้มครองตามหลักรัฐธรรมนูญจนกว่าจะสิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทาน และคู่สัญญาต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน โดยกระทรวงไอซีทีมีการตั้งคณะทำงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ คาดว่าในการประชุมในสัปดาห์ต่อไป เมื่อที่ประชุมได้รับข้อมูลครบถ้วน ทางที่ประชุม กทค.จึงจะมีมติ ว่าจะเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะทำงานของสำนักงาน กสทช. หรือไม่
นายเศรษฐพงค์ กล่าวต่อไปว่า ในวาระที่ 2 ที่ประชุม กทค. นี้ได้รับรายงานผลการพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์กฎหมายและพฤติกาลในการแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรณีการกำหนดมาตรการรองรับการสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญา เพื่อมิให้กระทบต่อผู้ใช้บริการ โดยในเรื่องนี้ได้สืบเนื่องมาจากที่ทางสำนักงาน กสทช. ได้จัดรับฟังความเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 และในร่างฉบับนี้ได้มีการแก้ไขและนำเข้าสู่การประชุม กสทช. ครั้งที่ผ่านมา
โดยได้มีมติให้นำร่างประกาศดังกล่าว ไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ มีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งจะเกิดขึ้นอีกไม่นานนี้ และ กทค. ก็ได้มีมติในการประชุม กทค. ครั้งที่ 27/2556 ที่มอบหมายให้ทางสำนักงาน กสทช. รับข้อสังเกตของที่ประชุม กทค. ในประเด็นเรื่องฐานอำนาจตามมาตรา 15 วรรค 3 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 จึงให้สำนักงาน กสทช. นำเสนอให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการเตรียมการอนุญาตการให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz เพื่อพิจารณาตามกระบวนการ และขั้นตอนของกฎหมาย และแนวทางปฏิบัติต่อไป
ดังนั้น เลขาธิการ กสทช. ก็ได้มีคำสั่งให้สำนักงาน กสทช. เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการแก้ไขเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ซึ่งกรรมการชุดดังกล่าวก็ได้ประชุมกัน และวิเคราะห์โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพฤติกาลที่เปลี่ยนแปลงแล้ว เห็นชอบว่า กสทช. สามารถดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต ประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้ คณะทำงานฯจึงมีข้อเสนอแก้ไขเงื่อนไขแนบท้ายดังกล่าว ซึ่งเป็นประเด็นทางกฎหมายด้วย
ทางด้าน นายสุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. กล่าวว่า กรณีสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz สิ้นสุดลง ข้อกฎหมายบอกเพียง เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานต้องคืนคลื่นความถี่มายัง กสทช. และถ้า กสทช. จะจัดสรรคลื่นใหม่ต้องทำด้วยวิธีการประมูล แต่ระหว่างนั้นหาก กสทช. เห็นความจำเป็นต้องจัดสรรคลื่นความถี่ก็จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
โดย พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553 ไม่ได้กล่าวถึงในกรณีที่มีผู้ใช้บริการตกค้างอยู่ในระบบ จึงต้องพิจารณาบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 47 และบทบัญญัติในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นเหตุของมาตรา 20 ที่ใช้เป็นฐานในการออกประกาศห้ามซิมดับ ทั้งนี้มาตรการห้ามซิมดับเป็นมาตรการทางกฎหมาย ควรออกดำเนินการควบคู่กับมาตรการ ต่างๆ ซึ่งมาตรการที่ทาง กสทช. จะทำได้คือการใช้อำนาจตามมาตรา 15 วรรค 3 เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ในกรณีที่มีเหตุสำคัญเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือกฎหมายหรือพฤติกาลเปลี่ยนแปลงไป ให้คณะทำงานมีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตฯ ได้ตามความจำเป็น
ดังนั้นจึงได้แก้ไขปรับปรุงในเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่สาม ในข้อ 32 การแจ้งเงื่อนไขและข้อปฏิบัติให้ผู้ร่วมการงานทราบ เป็นผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่แจ้งให้ผู้ร่วมการงานในสัญญาหรือสัญญาสัมปทานทราบและถือปฏิบัติตามเงื่อนไขฉบับนี้ รวมทั้งกฎหมายระเบียบและประกาศต่างๆ ที่คณะกรรมการกำหนด และที่จะกำหนดเพิ่มเติมในอนาคตโดยเคร่งครัด ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาสัญญาสัมปทาน สัญญาต่างๆ ที่ผู้รบใบอนุญาตได้ให้สิทธิแก่คู่สัญญาในการดำเนินการ หรือประกอบกิจการโทรคมนาคม ให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งให้คณะกรรมการทราบก่อนระยะเวลาดังกล่าวสิ้นสุดไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน พร้อมจัดทำแผนและมาตรการรองรับการประกอบกิจการดังกล่าวเพื่อมิให้กระทบถึงผู้ใช้บริการ
ขณะเดียวกันเงื่อนไขยังสอดคล้องกับมาตรการป้องกันซิมดับ ข้อ 32/1 มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ที่ระบุไว้ว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายของผู้ใช้บริหารที่อาจตกค้างในระบบการให้บริการตามสัญญา และเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ให้ผู้รับใบอนุญาตและผู้รับสัมปทานเดิมตามสัญญาการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่สิ้นสุดลง มีหน้าที่ให้บริการต่อไปเป็นการชั่วคราว โดยจะต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และสิทธิของผู้ใช้บริการที่จะได้รับความคุ้มครองให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สัญญาให้บริการเดิม รวมทั้งต้องอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการในการใช้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน ทั้งนี้ตามเงื่อนไข วิธีการและระยะเวลาที่คณะกรรมการจะมีคำสั่งหรือประกาศกำหนด
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
กลุ่มงานสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)
โทรศัพท์ : 0-2271-0151 ต่อ 315 - 317 โทรสาร : 0-2290-5241
Download
Press-Release-มติ-กทค-26-ส-ค-56.doc
สร้างโดย - (18/3/2559 16:01:01)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 51