เริ่มแล้ว!! ประชุมนานาชาติ “สิทธิผู้บริโภคในยุคดิจิตอล”

เชียงใหม่//กสทช. – มพบ. – CI เปิดเวทีการประชุมนานาชาติว่าด้วยสิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิตอล กว่า 30 ประเทศเข้าร่วม ตอลด 2 วันนี้ ถก! สิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งด้านโทรคมฯ - บรอดแคส ในยุคหลอมรวม

    วันนี้ (3 เมษายน 2557) ณ โรงแรมดิเอมเพรส อ.เมือง  จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ร่วมกับ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) และสหพันองค์กรผู้บริโภคสากล (Consumer International)  สร้างความร่วมมือระดับนานาชาติในการจัดประชุม  เรื่อง “การคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิตอล” ระหว่างวันที่ 3 -4 เม.ย. นี้ ในพิธีเปิดงานทั้ง 3 หน่วยงาน ร่วมกล่าวต้อนรับ ได้แก่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ เลขาธิการกสทช.   รศ.ดร.จิราพร  ลิ้มปานานนท์  ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค Ms.Amanda Long ผู้อำนวยการ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล และ Indrani Thuraisingham  หัวหน้าสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและตะวันออกกลาง ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นความร่วมมือครั้งแรกของการประชุมที่มีผู้บริโภคจากทั่วโลกให้ความสนใจเข้าร่วม จาก 81 องค์กร 32 ประเทศ และจากผู้บริโภคจากประเทศไทย ที่จะร่วมกันติดตามข้อมูล สถานการณ์ ปัญหา ตลอดจนข้อเสนอต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เติบโตและซับซ้อนมากขึ้น

    กสทช. นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวว่า งานนี้เป็นครั้งแรกของการรวมตัวกันของผู้บริโภคจากทั่วโลกในไทย จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะได้รับประโยชน์ ความรู้ จากประเด็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิตอล รวมทั้งการเชื่อมโยงประเด็นและปัญหาของผู้บริโภคในระดับสากล โลกทั้งโลกจะเชื่อมโยงกัน ซึ่งในประเทศไทยเองกำลังอยู่ในช่วงทดลองออกอากาศทีวีดิจิตอล จ.เชียงใหม่ ที่จัดประชุมครั้งนี้ยังเป็น1ในพื้นที่นำร่อง 11 จังหวัด ของการออกอากาศระบบดิจิตอลด้วย จึงปฏิเสธไม่ว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคดิจิตอล ที่เปรียบได้กับการเปิดหน้าต่างให้กว้างขึ้น ที่มีทั้งลมพัด อากาศดีๆเข้ามา และรวมทั้งมลพิษอาจติดเข้ามาด้วยในขณะที่เราอยู่ในยุคที่ไม่สามารถปิดหน้าต่างได้อีกแล้ว ผู้บริโภคเริ่มใกล้ชิดกับอุปกรณ์ดิจิตอล มากกว่าคนในครอบครัว ดังนั้น องค์กรกำกับดูแลจำเป็นที่จะต้องสร้างเครื่องมือ เพื่อกรองมลพิษต่างๆ เช่น การทำงานด้านการรู้เท่าทันสื่อ การแข่งขันในกิจการ การจัดสรรทรัพยากรของการสื่อสาร นี่ความท้าทายที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งการปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้บริโภคด้านการสื่อสาร จึงเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่จะนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตย

    Ms.Indrani กล่าวว่า ผลกระทบจากยุคดิจิตอลของผู้บริโภค ไม่มีประเด็นอะไรที่ท้าทายไปกว่า เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การใช้เฟซบุค Facebook ที่มีผู้ใช้มากกว่าประชากรในอินเดีย และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า ดรรชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ หรือ  GDP ของนิวซีแลนด์ ประเด็นสำคัญ คือ ความเป็นส่วนตัว ข้อมูลส่วนตัว การสอดแนม ความปลอดภัย การปกป้องอัตลักษณ์ของผู้บริโภค สิทธิของเด็ก การเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันการผูกขาดมีน้อยลง แต่ต้องเผชิญกับการโฆษณาชวนเชื่อ การสื่อสารที่เปิดกว้างมากขึ้น ทำให้ข้อมูลส่วนตัวมีความไม่ปลอดภัย  แต่ปัจจุบัน กฎหมายต่างๆ ยังไม่ได้พูดถึงบริการอินเทอร์เน็ต เราจะคุยเรื่องนี้กันในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถอยู่ในยุคดิจิตอลได้อย่างไว้วางใจ ในราคาที่จ่ายได้ และมีคุณภาพประสิทธิภาพ

    ทั้งนี้ การประชุมในวันแรก(วันที่ 3 เมย.) มีหัวข้อน่าสนใจได้แก่ วันคุ้มครองผู้บริโภคโลก  ปี  2014 การรณรงค์เรื่อง  “กู้สิทธิพิชิตโทร” (Fix our phone rights!) และการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม อาทิ การชำระเงินออนไลน์  & การผลิตเนื้อหาดิจิตอล ข้อตกลง TPP (Trans-Pacific Partnership Agreement) :  การคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นกฎหมายลิขสิทธิ์และเนื้อหา และ มาตรฐาน ISO/IEC เกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องรูปแบบบริการ และการดำเนินงานด้านการจ่ายเงินผ่านมือถือของ W3C   เป็นต้น และวันที่สอง (4 เมย.) มีหัวข้อประชุม ได้แก่ คุณภาพบริการของผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมเกี่ยวกับ ประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการบรอดแคส อาทิ สิทธิในการรับชมทีวีของผู้บริโภค:  มาตรฐานใหม่ในยุคดิจิตอล แนวโน้มและทิศทางของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในระบบ ดิจิตอลและการจัดการช่องว่างของคลื่น นโยบายและทิศทางการกำกับดูแล และ ทบทวนบทเรียนจากแนวทางสหประชาชาติสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค

    ทั้งนี้ ติดตามและรับฟังการถ่ายทอดสดการประชุมทั้งสองวันได้ทาง www.nbtc.go.th และความเคลื่อนไหวเพิ่มเติม ดาวน์โหลดเอกสารประกอบได้ทาง www.facebook.com/DigitalConsumerRights  และทวิตเตอร์ @NbtcRights

Download

สร้างโดย  -   (14/3/2559 17:41:23)

Download

Page views: 107